คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

อำนาจรุกสื่อ – นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหน่วยงานเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลตามสถานที่ชุมนุมรายวัน ยังมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นด่านหน้า

การเผชิญหน้าดังกล่าวอยู่ในสนามข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ตั้งแต่สื่อออนไลน์ และสื่อโซเชียลมีเดีย

การใช้อำนาจของกระทรวงดีอีเอสและกสทช. เป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อันเป็นการใช้กฎหมายและอำนาจที่ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเพิ่มความตึงเครียดให้สถานการณ์

กระทั่งลามมาถึงเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากในระบอบประชาธิปไตย

คําสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ เริ่มต้นจัดการกับสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ 5 ราย โดยใช้ข้ออ้างด้านความมั่นคงว่าเข้าข่ายยุยง ปลุกปั่นและสร้างความแตกแยก

แม้ต่อมาคณะทำงานการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงการสั่งพิจารณาเนื้อหาเป็นชิ้นๆ หรือเป็นตามช่วงเวลาเท่านั้น

แต่กรณีนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นคำเตือนจากฝ่ายผู้มีอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

ว่าด้วยสื่อมวลชนพึงมีสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ

ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐยังมีคำสั่งให้ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทุกรายระงับการใช้แอพพลิเคชั่น Telegram

รวมถึงคำสั่งให้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียทุกแพลตฟอร์มอย่างผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 14-18 ตุลาคม 2563 ที่รัฐมนตรีดีอีเอสระบุว่า เบื้องต้นพบผู้กระทำผิดประมาณ 300,000 URL

ความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวยากจะหลีกเลี่ยงจากข้อครหาว่าใช้วิธีที่มุ่งทำให้ประชาชนหวาดกลัวอำนาจรัฐ และกลัวอำนาจของกฎหมายพิเศษ

ทั้งที่การรับข้อมูลข่าวสารและควบคุมสื่อควรเป็นอำนาจของประชาชน เลือกได้เอง ตรวจสอบได้เอง และคิดได้เอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน