คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ร่วมกันหยุดวิกฤต – หลังรัฐบาลออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม และตัดสินใจใช้การสลายผู้ชุมนุมเมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 ตุลาคมนั้น

ปฏิกิริยาของประชาชน ตลอดจนองค์กรต่างๆ พร้อมใจกันแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านแพทย์ ร่วมกันลงชื่อกว่า 1,000 คน ขอให้ยุติสลายการชุมนุมด้วยน้ำผสมสารเคมี

นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศ ทั้งสห ประชาชาติ ฮิวแมนไรต์วอตช์ และองค์การยูนิเซฟ ก็รู้สึกกังวลต่ออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

รัฐบาลไทยจึงควรรับฟังข้อกังวลและห่วงใยเหล่านี้อย่างตั้งใจ

ล่าสุดเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) รวมตัวเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังทำเนียบรัฐบาล ยื่นข้อเรียกร้อง กรณีตั้งข้อหา จับกุมคุมขังแกนนำ และผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ทวีความรุนแรงขึ้น

โดยนำรายนามนักวิชาการรวมทั้งประชาชนที่มีรายชื่อแนบท้ายจำนวน 1,118 รายชื่อ ขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลต่อกรณีที่เกิดขึ้นด้วย และย้ำว่าการใช้กำลังที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามหลักการและขั้นตอนที่เป็นสากล

รัฐบาลต้องยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือขจัดผู้เห็นต่าง ต้องยกเลิกการตั้งข้อหาและต้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมทุกคนอย่างไม่เงื่อนไข เพราะเป็นการใช้สิทธิตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐ ธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศที่ลงสัตยาบันไว้

รวมถึงต้องรับข้อเสนอของกลุ่ม ผู้ชุมนุมไปพิจารณาอย่างจริงจัง

เป็นสิ่งที่น่ายินดี ที่ขณะนี้ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเห็นชอบร่วมกันที่จะใช้กลไกของรัฐสภาเป็นเวทีหารือ โดยการเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็ยังเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกับการดำเนินการว่า จะจริงจังให้ลุล่วงไปจนถึงผลสำเร็จ หรือแค่ชะลอปัญหาซื้อเวลาไว้เพียงชั่วคราว

เพราะที่ผ่านมาเห็นชัดว่าพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนวุฒิสภาที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ต่างร่วม กันสร้างความไม่พอใจให้ขึ้นจนลุกลามบานปลาย นำไปสู่การชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ

จึงแต่หวังว่ากลไกของรัฐสภาจะเป็นทางออกและหยุดยั้งวิกฤตครั้งนี้ โดยไม่เป็นเพียงแค่ละครตบตา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน