จริยธรรมราษฎร – ผู้ใหญ่เห็นอะไรใน “ม็อบเด็ก” เยาวชนปลดแอก ซึ่งพัฒนามาเป็น “ม็อบราษฎร” ที่ไม่ต้องมีแกนนำผู้ใหญ่รุ่นไดโนเสาร์บดบังด้วยโมหะ มองว่าเด็กถูกสั่งการทางมือถือ ผ่านแอพ โดยธนาธร โดยเอกสารลับ CIA หรือโดยจอร์จ โซรอส ต้องการยึดประเทศไทย ฯลฯ
ไม่ใช่เรื่องใหม่หรอก เอามาจากหนังฝรั่ง Children of The Corn พูดตามหลักจิตวิทยาคือพวกนี้เข้าสู่ Stage ของการช็อก ที่โลกของตัวเองกำลังจะล่มสลาย จนปฏิเสธความจริง และสร้างความเท็จขึ้นมาปลอบใจกัน เช่นเห็นม็อบมาเยอะก็บอกภาพตัดต่อ
ผู้ใหญ่ที่มีสติไปเดินสังเกตการณ์ในม็อบ กลับรู้สึกทึ่ง โดยเฉพาะม็อบตั้งแต่วันที่ 17 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นม็อบไม่มีแกนนำ ไม่มีรถปราศรัย มีแค่โทรโข่ง ใครอยากทำป้ายก็ทำไปเอง คนที่ไปแสดงจุดยืนไม่ได้ไปฟังใครพูด แต่ตะโกนพร้อมกัน…. การสื่อสารในม็อบก็ใช้วิธีบอกกันจากหัวถึงท้าย เช่นตำรวจอยู่ไหน ขอแว่นหน่อย ขอร่ม เพื่อป้องกันรถฉีดน้ำ กระทั่งเวลาเลิกม็อบก็กำหนดกันเองว่า 20.00 น.
ม็อบวันถัดๆ มา ยิ่งพัฒนาการบริหารจัดการด้วยตัวเอง มีระเบียบ มีความสามัคคี แบบที่ผู้ใหญ่อยากเห็นนักหนา เด็กมัธยมจับมือกัน “ตั้งแถวๆ” ส่งสิ่งของ บอกข่าวสาร แหวกทางให้รถพยาบาล เวลาปกติก็นั่ง แต่พอบรรยากาศตึงเครียด มีคนบอกว่า “รถฉีดน้ำมาทางราชวิถี” เด็กผู้หญิงแทนที่จะหนี กลับคว้าหมวกคว้าร่มวิ่งไปทันที
คนรุ่นเก่าไม่เคยเห็นสิ่งนี้ ไม่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีระเบียบวินัยจัดการกันเองได้ มีความกล้าหาญ เสียสละ เอื้อเฟื้อต่อกัน มีความกระตือรือร้นกระทั่งนัดรวมพลกันได้ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ก่อนจะเลิกก็ช่วยกันเก็บขยะ
คนรุ่นเก่าทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ก็เลยคิดว่า “มันต้องถูก กดปุ่มแน่ๆ”
แต่คนรุ่นเก่าก็ช็อก เมื่อพบว่าชายหนุ่มที่เอาโบสีขาวไปวางให้ตำรวจแล้วถูกจับ กลายเป็นอัจฉริยะทางเทคโนโลยีชีวภาพ ที่เพิ่งส่งเพลงไทยขึ้นสู่อวกาศด้วยการบันทึกลงบน DNA
ในม็อบมีทั้งหมอ วิศวะ ครีเอทีฟ นักธุรกิจ คนทำหนัง วาดการ์ตูน นักเรียนนักศึกษา ติ่งไอดอล โอตะ “ด้อมเกาหลี” ที่ปกติระดมทุนสนับสนุนดารา ครั้งนี้หาเงินหนุนม็อบได้เป็นล้านๆ ในเวลาไม่ถึงวัน
คนรุ่นใหม่ไทยยังต่างจากชาติใดในโลก ตรงที่มีอารมณ์ขัน กวนโอ๊ย ซิกแซ็กสร้างสรรค์ เช่นเปลี่ยนจุดนัดหมายหลอกตำรวจ ก็ใช้ภาพหม้อ “แกง” เรียกคาราวานรถเข็นว่า CIA จนเจอพันเอกมาขายลูกชิ้นปิ้งจริงๆ
คืนวันที่ 21 คือจุดพีก ม็อบที่เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ชัยมีไม่มาก แต่ตามมาสมทบล้นหลาม สามารถเดินไปถึงทำเนียบ โดยไม่เกิดการปะทะ ทั้งที่มีแกนนำอยู่ส่วนหน้าแค่ 2-3 คน ไม่แตกแถว มีคนชูป้ายขวางก็อ้อมไป ช่วยกันดูแล ขอบคุณตำรวจ ถึงเวลาก็เลิกอย่างสงบ ทั้งที่ม็อบเต็มไปด้วยความโกรธจากการถูกกระทำ
ช่วงเวลา 7 วันเท่านั้น จาก 14-21 ตุลา ขบวนคนรุ่นใหม่เติบใหญ่ทั้งปริมาณ คุณภาพ สร้าง Solidarity สร้าง Empathy มีทั้งความกล้าหาญ เข้มแข็ง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
คนรุ่นเก่าที่บ้าคลั่งควรภูมิใจด้วยซ้ำ ที่สังคมไทยเกิดคนรุ่นใหม่อย่างนี้ขึ้นได้ คนรุ่นใหม่ไม่ได้มาจากนอกโลก เขาเกิดมาจากการอบรมบ่มสอนของพ่อแม่ปู่ย่าตายายนี่แหละ แต่พ่อแม่จำไม่ได้หรือว่าสอนเขาอย่างไร
อ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ชี้ว่าลึกลงไปในอารมณ์ความรู้สึกของนักเรียนนักศึกษา ก็คือความจงรักต่อ “จริยธรรมทางสังคม” ซึ่งชนชั้นนำไทยพร่ำสอนมา ทั้งความไม่คดโกง ความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาสิ่งที่เป็นทรัพย์สินของส่วนรวมมาเป็นของตนเองอย่างปราศจากความละอาย ฯลฯ เหล่านี้คือ “ความดี” ที่พ่อแม่อยากให้พวกเขายึดถือเป็นสรณะ พวกเขาจึงต่อต้าน “โครงสร้าง” หรือ “ระบบ” ที่เปิดโอกาสให้บุคคลใช้อำนาจในทางที่ผิดหลักจริยธรรมเหล่านี้
ใครกันแน่ ทรยศต่อจริยธรรมสังคม ยึดอำนาจยึดชาติเป็นของตน สืบทอดอำนาจอย่างหน้าด้านๆ ด้วยกติโกง ตั้งพวกมาโหวตตัวเอง กวาดต้อนนักการเมืองยี้ ที่คนชั้นกลางเก่าเคยประณาม แต่บรรดาคนชั้นกลางรุ่นพ่อแม่กลับอ้างเงื่อนไขต่างๆ มาปกป้อง ชี้หน้าคนรุ่นลูกรุ่นหลานทำลายประเทศ
คนรุ่นใหม่ต่างหากซื่อตรงต่อจริยธรรม เหมือนที่พูดกันว่าด้านหนึ่งเขาก็คือทายาทของม็อบเสื้อเหลือง ที่ต้องการเห็นการเมืองดี ไม่โกงกิน แต่ไม่เอารัฐประหารตุลาการภิวัตน์ โครงสร้างอำนาจอนุรักษนิยม ระบบอุปถัมภ์ ที่จัดวางเป็นลำดับชั้น
พลังของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต คือความหวังของการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่ผู้ครองอำนาจในโครงสร้างเก่า การเมืองเก่า ยอมไม่ได้ จึงพยายามบดขยี้ทำลาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน