รายงานพิเศษ

‘ปริญญา’ชง 7 ข้อ – จากสถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ภายใต้ 3 ข้อเรียกร้อง 1.ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง 2.รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันที เพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบัน ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ควรต้องทำสิ่งใด แก้รัฐธรรมนูญ-ยุบสภา-ลาออก เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง ดังนี้

ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ขอให้มีการ “ถอยคนละก้าว” เพื่อแก้ไขปัญหาการชุมนุมที่กำลังกดดันรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพล.อ.ประยุทธ์แถลงว่าจะนำข้อเรียกร้องของ ผู้ชุมนุมเข้าสู่การหารือของรัฐสภาในวันที่ 26 ต.ค.นั้น เพื่อประโยชน์ในการถอยคนละก้าว ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ นายกฯ ควรต้องเป็นผู้นำในการถอย ตนมีข้อเสนอดังนี้

1.การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ ต้นเหตุของชุมนุมคือการสืบทอดอำนาจของ คสช. และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเฉพาะกาลที่ให้ คสช. เป็นผู้เลือก ส.ว.ชุดแรกที่มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเป็นนายกฯ ต่อได้หลังจากเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 มาจนถึงปัจจุบัน

หาก คสช.ไม่สืบทอดอำนาจ ก็จะไม่มีการประท้วงหรือการชุมนุมเช่นนี้ การชุมนุมถ้าหากมี ก็จะเป็นเรื่องอื่น และจะเป็นการประท้วงนายกฯคนอื่นที่ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์

การที่คณะรัฐประหาร มีอำนาจเลือก ส.ว.ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้น เป็นเรื่องที่คณะรัฐประหารทำมาแทบทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดให้ ส.ว.ที่มาจากคณะรัฐประหาร มีอำนาจเลือกนายกฯ มาก่อนเลย

ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ควรต้อง “ถอย” เป็นก้าวแรก คือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการถอยไปก่อนหน้าการยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 ที่รัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกนายกฯ ซึ่งเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่ประชาชนเลือกนายกฯ และรัฐบาล ผ่านการเลือก ส.ส. โดยประชาชนทุกคนมีเสียง เท่ากัน ไม่ว่าจะเห็นต่างกันเพียงใด ใครจะเป็นนายกฯ และพรรคการเมืองไหนจะเป็นรัฐบาล จะจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาชนเลือกตั้งไป คสช.ก็เป็นนายกฯ และสืบทอดอำนาจได้อยู่ดีเช่นนี้

ในปี 2534 คณะรัฐประหารในชื่อคล้ายคลึงกันคือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เคยถอยในเรื่องนี้มาแล้ว ด้วยการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เมื่อมีนิสิตนักศึกษาประท้วงต่อต้านในขณะนั้น ซึ่งขณะนี้มีคนประท้วงเรื่องนี้มากกว่าในปี 2534 แล้ว คสช.ก็ควรต้องถอยเรื่องอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯเช่นกัน

ซึ่งจะเป็นสัญญาณว่า คสช.จะยุติการสืบทอดอำนาจ และจะทำให้สถานการณ์เขม็งตึงทางการเมืองคลายออก และจะนำมาสู่การสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยวิถีทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การร่างใหม่ทั้งฉบับต่อไป

2.รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีคนต่อต้านไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ไปแล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดในเดือนพ.ค. 2535 หลังเหตุการณ์นองเลือดต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การร่างใหม่ทั้งฉบับ เกิดเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ในเวลาต่อมา

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีที่มาจากการยึดอำนาจเหมือนกัน มีปัญหามากกว่าด้วยซ้ำ เพราะในปี 2534 ยังไม่มีองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ที่คณะรัฐประหารจะไปยุ่งเกี่ยวกับการสรรหาได้ดังเช่นในปัจจุบันนี้

องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญนั้น เริ่มเกิดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 โดยให้วุฒิสภาที่ประชาชนเลือกโดยตรง เป็นผู้เลือกองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่พอรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้ ส.ว.ชุดแรกมาจาก คสช. โดยมีอำนาจเหมือน ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง คือให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ คสช. ไปเกี่ยวข้องกับการสรรหา โดยผ่าน ส.ว. และเกิดปัญหาเรื่องการตรวจสอบและความเชื่อถือที่มีต่อองค์กรอิสระ

ความจริงเรื่องนี้ เป็นปัญหามาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ของ คสช. ที่ให้ สนช.เป็นผู้ให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระแล้ว ถ้าจะกล่าวว่า ส.ว.ชุดแรกคือ สนช.แปลงร่างมา ก็ไม่ผิดความจริงไปนัก

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยังมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศไปถึง 20 ปี โดยไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จึงมีปัญหายิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ที่สุดท้ายต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีปัญหายิ่งกว่า จึงน่าจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องร่างใหม่ทั้งฉบับเช่นกัน และควรทำโดยที่ไม่ต้องให้มีการนองเลือดก่อน

สำหรับประเด็นที่มีการให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ผ่านการลงประชามติ จึงไม่อาจจะแก้ไขหรือร่างใหม่ เป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนัก เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีผู้ออกเสียงให้ผ่านเพียง 61 เปอร์เซ็นต์ และคำถามพ่วงที่ทำให้ ส.ว.ชุดแรกมีอำนาจเลือกนายกฯ ก็ผ่านด้วยคะแนนเพียง 57 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถามว่าในขณะนั้นประชาชนที่ลงคะแนนเห็นชอบ ที่ไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ แต่ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งและบ้านเมืองเดินหน้าต่อ มีมากกว่า 11 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้มาก เพราะมิได้กำหนดไว้ว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปและจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญนั้นแก้ไขได้ และร่างใหม่ได้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็ผ่านประชามติ คสช.ยังฉีกทิ้งได้โดยไม่สนใจว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้วเลย

3.การยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น เป็นทางออกทางหนึ่ง เพราะจะเป็นทางลงให้พล.อ.ประยุทธ์ได้ ทั้งนี้ โดยต้องไม่รับเป็นว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองใดอีก แต่ปัญหาคือ ถ้ายุบสภาอย่างเดียว ผู้คนจะยังไม่วางใจว่า คสช.จะยุติการสืบทอดอำนาจจริงๆ เพราะตราบใดที่ ส.ว.ชุดแรกยังมีอำนาจเลือกนายกฯ คสช.ก็ยังกลับมามีอำนาจใหม่ได้

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ จึงเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่ควร “ถอย” เป็นการเร่งด่วน แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียงอย่างน้อย 1 ใน 3 ของ ส.ว. คือ 84 เสียงจาก 250 เสียง และยากที่ ส.ว.จะแก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจตนเอง แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ยอมที่จะแก้ไขเรื่องนี้ เชื่อว่าจำนวน ส.ว. 84 เสียงไม่ใช่เรื่องยากแม้แต่น้อย

4.การลาออกจากตำแหน่ง ก็เป็นหนทางคลี่คลายสถานการณ์ได้ เพราะหากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการถอย ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยุบสภา ก็อาจต้องถอยให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน ที่พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะใช้รัฐสภาเป็นเวทีแก้ปัญหา ไม่ควรเป็นเพียงการโยนปัญหาออกไปจากตัว และให้รัฐสภาถกเถียงกันโดยไม่เกิดการแก้ปัญหา เพราะผู้ชุมนุมประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ มิใช่ประท้วงรัฐสภา และที่สำคัญที่สุดพล.อ.ประยุทธ์ มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และมีเสียงทั้งหมดในวุฒิสภา จึงสามารถใช้รัฐสภา แก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

5.มีประเด็นละเอียดอ่อนประการสำคัญที่ควรต้องแก้ไขทันทีคือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไม่พูดหรืออ้างในทำนองให้คนเข้าใจว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบ๊กให้ตนเอง หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือ The King Can Do No Wrong หรือพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยึดมั่นหลักการนี้ และปกป้องสถาบันด้วยการออกหน้าและรับผิดชอบ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่ดูเหมือนกับตรงกันข้ามอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลขัดแย้งกับสถาบัน และประชาชนที่เห็นต่างกันขัดแย้งกัน ที่สำคัญคือพล.อ.ประยุทธ์ ต้องแก้ปัญหาในทางการเมืองโดยเร็วที่สุด เพื่อมิให้สถานการณ์ลุกลามมากไปกว่านี้

6.พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ลืมว่า ท่านเป็น ผบ.ทบ.ในขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกประท้วงให้ลาออกจากนายกฯ และพล.อ.ประยุทธ์ ได้ยึดอำนาจ ซึ่งทำให้เป็นนายกฯ มาจนถึงทุกวันนี้ ในวันนั้นพล.อ.ประยุทธ์สัญญากับประชาชนไว้ว่า ขอเวลาอีกไม่นาน ความสุขจะคืนมา

บัดนี้เวลาผ่านไป 6 ปีแล้ว เราก็ยังไม่เห็น “ความสุขที่กลับคืนมา” นอกจากรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุลที่แย่ลง ความขัดแย้งในสังคมในเรื่องสถาบัน และการกลับมาประท้วงขับไล่นายกฯอีกครั้ง โดยวันนี้ท่านเป็นผู้ถูกประท้วงเอง ระยะเวลา 6 ปีนั้นยาวนานกว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแม้กระทั่งอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ไปแล้ว

แม้รัฐบาลจะมีเสียงข้างมากในสภาแบบไม่ปริ่มน้ำแล้ว และมีเสียงในวุฒิสภาทั้งหมด แต่รัฐบาลไม่ได้มีเสถียรภาพมากอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะเสียงข้างมากในสภา เป็นเสียงข้างมากแบบมีความง่อนแง่น เนื่องจากหากมีพรรคขนาดกลางพรรคหนึ่งพรรคใดถอนตัว ก็มีเพียงพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน มีเสียงมากพอที่จะไปเสียบแทนได้ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ที่ 1 ใน 2 พรรคนี้จะไปร่วมรัฐบาลกับท่าน และมีโอกาสที่พรรคถอนตัว ก็มีความเป็นไปได้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่ให้เหตุผลในการยกมือให้ท่านเป็นนายกฯว่า เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพรรคนั้นจะถูกผู้ชุมนุมเรียกร้องกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาสู่การถอนตัวได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในไม่ช้าข้างหน้านี้

พล.อ.ประยุทธ์ จึงควรรีบแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดมาจากการสืบทอดอำนาจ คือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภาหรือลาออก ดังที่ท่านอาจเคยแนะนำอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว และดังที่ท่านสัญญากับประชาชนไว้ว่า เราจะทำตามสัญญา ความสุขจะกลับคืนมา ก่อนที่สถานการณ์จะกลายเป็นวิกฤตการณ์จนไม่มีทางออก และประชาชนจะมีความทุกข์จากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอีกครั้งมากไปกว่านี้

7.เรื่องสำคัญที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าคือ รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงและไม่ใช้วิธีการสลายการชุมนุมอีก หากการชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดการต่อต้านดังเช่นที่เกิดหลังการสลายการชุมนุม ที่ปทุมวันในวันที่ 16 ต.ค. ที่สำคัญคือ รัฐบาลต้องมองว่า ผู้ชุมนุมแค่มาทวงสัญญาที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้สัญญาไว้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

ความรุนแรงจะไม่เกิด ถ้าไม่มีฝ่ายใดเริ่มก่อน ในฐานะที่ประเทศไทยมีบทเรียนเรื่องการนองเลือดมามากแล้ว เราไม่ควรเกิดเหตุการณ์รุนแรงอีก ซึ่งเราทำได้โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหา รับฟังเหตุผลกันและกัน เคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เราก็จะผ่านวิกฤตการณ์ และแก้ปัญหาการเมือง และแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน