คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

นวคิดหรือข้อเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์เพื่อแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้ง เริ่มดูจริงจังขึ้นมาเมื่อมีข้อเสนอ จัดทำรูปแบบ โครงสร้างและวิธีการทำงานแก้ไขปัญหา เผยแพร่เป็นข่าวออกมา

อย่างไรก็ตาม เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางเช่นกันว่าคณะกรรมการดังกล่าวจะเป็นที่ยอมรับและเกิดความร่วมมือหรือไม่

เพราะเมื่อมองย้อนความขัดแย้งรุนแรงนับจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา มีความพยายามตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้มาก่อน แต่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ

หากต้องการ “กรรมการ” ที่จะเปิดโต๊ะเจรจาและหาวิธีบรรเทาศึก กรรมการนั้นๆ ต้องมีความชอบธรรม และมีความยุติธรรมในฐานะคนกลาง

เป็นที่ยอมรับของกลุ่มคนที่ขัดแย้งกันอย่างน้อยสองฝ่าย

 

ัญหาเริ่มต้นก่อนการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ คือความไม่ไว้วางใจของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาล

หลังจากการประชุมสภาสมัยวิสามัญปลายเดือนตุลาคม มีผู้อภิปรายฝ่ายพรรครัฐบาลและวุฒิสมาชิกหลายคนตั้งป้อมกล่าวหาและให้ร้ายผู้ชุมนุม

มีทั้งแสดงความคิดเห็นส่วนตัวโดยไม่มีหลักฐานรองรับ มีทั้งการหยิบประเด็นเล็กมาทำให้เป็นเรื่องใหญ่ สรุปความเองและเหมารวมผู้ชุมนุมทั้งหมด

ท่าทีอันเป็นปรปักษ์เหล่านี้ทำให้การประชุมสมัยวิสามัญกลายเป็นเวทีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายค้านที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อเปิดทางสู่การแก้ปัญหา กับฝ่ายรัฐบาลและส.ว.ที่ยืนกรานว่านายกรัฐมนตรีจะลาออกไม่ได้

เมื่อบวกกับการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง บรรยากาศของการปรองดองจึงไม่ปรากฏ

 

สิ่งที่ปรากฏในการประชุมสภาสมัยวิสามัญกลับเป็นความได้เปรียบทางกฎหมายที่ทำให้รัฐบาลมีส.ว.สนับสนุนอยู่ถึง 250 คน

แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็อ้างอิงบทบัญญัตินี้ว่า หากจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ กติกาที่ยังต้องใช้คือส.ว. 250 คนเป็นผู้รับรองอยู่ดี

ดังนั้นฝ่ายที่ได้เปรียบในการคุมกติกาและระยะเวลาของการคลี่คลายสถานการณ์ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือฝ่ายรัฐบาล

หากจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ที่ยังไม่เป็นไปตามสัดส่วนตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริงอีก เป้าหมายที่จะปรองดองย่อมเป็นไปไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน