คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ

แนะทางออกประเทศไทย : หมายเหตุ – ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2564 ต่อปัญหาการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความอยู่รอดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทางออกจากปัญหาขัดแย้ง

ประเมินภาพรวมสถานการณ์การเมืองในปี 2564

ผมอาจต้องใช้คำว่าน่าวิตก ประเทศไทยตอนนี้ทุกคนรู้ดีว่ากำลังประสบปัญหาหลายด้าน ทั่วโลกเองก็ประสบปัญหาโรคระบาดโควิด-19 มันแปลว่าทุกประเทศต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยแน่ๆ แต่เราแย่กว่านั้น ตรงที่ดันมีปัญหาซ้ำซ้อนเรื่องการเมือง การเรียกร้องประชาธิปไตย การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และปัญหาการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน

แค่นี้ภาพรวมก็ดูจะมีปัญหามาก ถ้าเทียบประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และอาจจะถือว่ามีปัญหามากที่สุดเสียด้วยซ้ำ ยิ่งด้วยภาพลักษณ์ที่ประเทศเราเคยเป็นประเทศนำหน้าในอาเซียนมาก่อน แต่ตอนนี้เราขยับมาอยู่อันดับท้ายๆ

ในประเทศไทย ทหารไทยเล่นการเมือง ซึ่งเหมือนจะคุมการเมืองได้ในระดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วคุมยากมาก ยิ่งเห็นจากปรากฏการณ์การชุมนุมที่เกิดจากเยาวชนคนหนุ่มสาวแล้ว จะเห็นได้ว่า ทหารไทยตอนนี้เล่นการเมืองลำบากมากๆ ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลไทยโดยตรง

ปัญหาทางการเมืองไทย ดูสภาพน่าจะยืดเยื้อและยาวนาน เพราะต่างคนต่างไม่ยอมกัน ผู้ชุมนุมไม่ยอม รัฐบาลเองก็ไม่ถอย จึงอยู่ที่ว่าใครจะอดทนกว่า คนนั้นชนะ ในแง่หนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าฝ่ายรัฐบาลคงคาดว่าในที่สุดการชุมนุมของคนหนุ่มสาวจะอ่อนแรงลง แต่ความจริงเราไม่มีทางคาดเดาได้ เพราะม็อบปัจจุบัน ไม่เหมือนม็อบปี 2553 ไม่เหมือนม็อบปี 2535 หรือม็อบเมื่อ 6 ตุลา 2519 และม็อบ 14 ตุลา 2516

ปัจจุบันมันเป็นแฟลชม็อบ มาแล้วก็ไป บางทีมีเทคนิคเล่น ปั่นประสาทกัน หรือที่คนหนุ่มสาวเรียกว่า แกง กันบ่อยครั้ง ฉะนั้น การชุมนุมแบบนี้จึงสามารถเล่นได้ยืดยาวมากๆ ประกอบกับลักษณะพิเศษของม็อบแบบแฟลชม็อบที่ไม่ได้ต้องการคนมากมายมหาศาล ใช้เพียงไม่กี่คน ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ในเชิงสัญลักษณ์ได้แล้ว ดังนั้น หากจะทำให้ยืดเยื้อก็ไม่ใช่เรื่องยาก








Advertisement

ทั้งการชุมนุมในขณะนี้ ไม่ใช่แค่ส่งผลในประเทศเท่านั้น แต่มันยืดเยื้อไปสู่ระหว่างประเทศด้วย การชุมนุมในเมืองไทย กลายเป็นสิ่งที่สากลโลกให้ความสนใจอย่างมาก ทั้งสหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นเองก็สนใจ มันแปลว่าโลกทางซีกตะวันตกให้ความสนใจการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ซ้ำยังมีท่าทีที่ไม่ได้เห็นใจรัฐบาล แต่จะเห็นอกเห็นใจผู้ชุมนุมมากกว่า

การต่อสู้กันของคนหนุ่มสาวไม่ได้สู้เพื่อจะเอาอำนาจทางการเมือง ไม่ได้ต้องการเป็นรัฐมนตรีหรือตำแหน่งทางการเมือง กล่าวคือไม่มีทางที่ เพนกวิน หรือพริษฐ์ ชิวารักษ์ จะมาเป็นนายกฯ หรือรัฐบาลแต่เดินเกมจุดประเด็นมากกว่า เหมือนกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ ธีรยุทธ บุญมี ที่จุดประเด็นเมื่อ 14 ตุลา คนหนุ่มสาวที่เคลื่อนไหวในปัจจุบันก็เช่นกัน พวกเขาออกมาเพื่อจุดประเด็น ดึงประเด็นปัญหา เอาเรื่องที่ซุกเอาไว้ใต้พรมออกมาพูด เพื่อสร้างแรงกดดันสู่การเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มาเพื่อยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลง

หากดูจากเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มชุมนุม กระทั่งถึงเดือนธ.ค.2563 มีอะไรเกิดบ้าง คนรุ่นใหม่เป็นฝ่ายจุดประเด็นขึ้นมาทั้งหมด ตั้งแต่วิ่งไล่ลุงหรืออาจจะก่อนหน้านั้น มาสะดุดเดือนมี.ค. ที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 แล้วจึงมาเข้มข้นในช่วงเดือนต.ค. ก่อนจะหยุดพักเพราะมีสอบ

ฉะนั้นเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าฝ่ายม็อบเป็นฝ่ายรุกจุดประเด็น ด้วยยุทธวิธีแปลกๆ ที่ทำให้ผู้ใหญ่คนรุ่นเก่าต้อง ปวดหัว จนเกิดเป็นภาพแพร่ออกไปทั่วโลก ผมยังนึกไม่ออกว่า หนังสือระดับชั้นนำของสหรัฐ อังกฤษ ยุโรป ญี่ปุ่นที่จะไม่มีรายงานเรื่องนี้คงไม่มี เพราะแนวโน้มความสนใจต่อประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสายตาสื่อทั่วโลกนั้นมีมาก ทั้งยังรายงานได้เจาะลึกด้วยเสรีภาพทางสื่อมวลชนที่สูงมากอีกด้วย

ส่วนทางออกที่จะเกิดขึ้นนั้น ผมมองว่าคู่ขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนยังไม่มีการมาเจอกันเลย รัฐบาลอาจตั้งกลุ่มประนีประนอมขึ้นมาก็จริง แต่ดูเผินๆ ไม่ต้องลึกซึ้ง เรารู้ว่าไม่มีทางที่คนเขาจะเชื่อ เพราะคนที่ออกมาพูดแทนรัฐบาลนั้น บอกตรงๆ ว่าเครดิตค่อนข้างต่ำ ไม่มีความน่าเชื่อถือ เหมือนพูดไป ก็แค่ลมปาก ฝ่ายรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่ต้องการประนีประนอม และถอยคนละก้าวอย่างแท้จริง แต่ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณนั้นเกิดขึ้น

คณะกรรมการที่ตั้งขึ้น มีแต่จะถูกมองว่า “บ่มิไก๊” หรือ ไม่มีน้ำยา ไม่น่าเชื่อถือ มันต้องให้คนที่มีภาพลักษณ์ประนีประนอมกว่านี้ออกมาพูด อย่างรัฐประหารปี 2549 ก็ชูนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นมา แต่ครั้งนี้ กลับเลือกคนที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ จนดูเหมือนจะติดกับที่ตัวเองสร้างขึ้น

ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปมากขนาดนี้ ต้องหาเกมใหม่ๆ มาเล่น ไม่ใช่ยังยืนยันจะใช้วิธีการเดิม ซึ่งมันมีแต่จะทำให้หมดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำ ยิ่งต้องปรับทั้งท่าทีการแสดงออก และวิธีการพูดสื่อสารกับประชาชน เชื่อว่าตลอดปีที่ผ่านมา ยังมีประชาชนที่เชื่อมั่นรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อยู่ แต่คนที่เคยเชื่อแล้วเริ่มไม่เชื่อ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะความไม่น่าเชื่อถือนี้

รัฐบาลมองว่าการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เริ่มซาลงในช่วงปลายปีที่แล้ว คิดว่าซาลงจริงหรือไม่

ไม่เชื่อว่าม็อบจะซาลงจริงๆ ยิ่งดูการเคลื่อนไหวของแกนนำ ก็ยังเห็นว่ามีแรงเหลืออยู่อีกเยอะ ส่วนแนวร่วมประชาชนที่มองว่าอาจจะซาลงนั้น คงเป็นแค่ความหวังของรัฐบาล ที่หวังว่าคนจะเริ่มน้อยลง ซึ่งประเด็นเรื่องจำนวนของผู้ชุมนุม ไม่น่าจะเอามาอ้างได้ เพราะเวลาสังคมจะเปลี่ยนแปลงได้ มันไม่ใช่ว่าต้องให้คนทั้งประเทศออกมา แต่การเปลี่ยนแปลงมันเริ่มด้วยคน 5-10 คนเท่านั้น แล้วขยายออกไปเรื่อยๆ ประวัติศาสตร์ทั่วโลกก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงด้วยจำนวนคนเป็นล้านๆ ดูจากปฏิวัติอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน ประเทศไทยเองไม่ได้แปลว่าทั้ง 60 ล้านคนต้องออกมาแสดงพลัง รัฐบาลถึงจะถือว่าได้เวลารับฟัง แค่หลักแสนที่ออกมาก็ถือว่าน่ากลัวแล้ว

มันขึ้นอยู่ว่าสามารถจุดประเด็นนั้นติดได้หรือไม่ และมาในจังหวะที่พอดีหรือไม่ หากจะไม่ใช่ ก็หมายความว่าคงต้องยืดออกไปอีก คณะราษฎร 2475 มาได้ในระดับหนึ่ง ส่วนคณะราษฎร 2563 กำลังเคลื่อนไปอีกระดับ จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ประเด็นนั้นจุดติดหรือยัง หากติดแล้ว แม้คนจะดูเหมือนซาลง ยังไงมันจะยังคงอยู่

การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปีนี้ จะแรงขึ้นหรือไม่ เพราะอะไร

ตอนนี้ต้องรอให้พูดคุยกันก่อน จึงจะประเมินได้ว่า การเคลื่อนไหวชุมนุมจะไปต่อแบบรุนแรงขึ้นหรือไม่ ซึ่งภาพในตอนนี้ ยังเป็นการต่อสู้และโต้กลับด้วยการตั้งข้อหา สิ่งที่น่าตกใจมาก คือในเวลาไม่กี่อาทิตย์ มีการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากถึง 40 กว่าคนแล้ว ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องน่าวิตก เพราะแทนที่มาตรา 112 จะเป็นกฎหมายที่มีไว้พิทักษ์รักษาสถาบัน มันจะกลายเป็นกฎหมายที่ถูกใช้ให้กลายเป็นผลลบ ใครอยากฟ้องก็ไปฟ้องได้หมด มองอีกด้านคือไม่ได้เป็นคุณประโยชน์ มีแต่จะเป็นอันตรายต่อสถาบันเท่านั้น

ผมเคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อ ขอให้มีการแก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในมาตรา 112 ของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือครก.112 ในปี 2554 เราเริ่มต้นเรียกร้องขอให้แก้ไขก่อน จนมีการระดมลงชื่อเสนอเข้ารัฐสภาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ข้อเสนอนั้นถูกปัดตกอย่างน่าเสียดาย มาถึงตอนนี้คนรุ่นใหม่ได้หยิบประเด็นนี้อีกครั้ง และก้าวเลยไปยังจุดที่เรียกร้องให้ยกเลิก แม้ส่วนตัวผมยังมองว่าเป็นได้ยาก เพราะเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรอง หากตั้งราคามา 100 อีกฝ่ายขอเหลือ 50 ถ้าจะประนีประนอมได้อาจยอมจบที่ 75

ดังนั้น บางทีเราอาจต้องวางอุดมการณ์ไว้ข้างหลังการต่อรอง เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ไม่ใช่อุดมการณ์ไม่สำคัญ แต่ผลของมัน เมื่อปฏิบัติแล้วขึ้นอยู่กับการต่อรองด้วย

ทั้งนี้ เงื่อนไขความสำเร็จของการชุมนุมนั้น อยู่ที่ฝ่ายอำนาจเดิม บารมีเดิม ไม่ปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ ถ้าจะอ้างคำสัมภาษณ์ของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เคยให้สัมภาษณ์กับมติชนครั้งหนึ่งว่า ถ้ากลุ่มที่มีอำนาจอยู่เดิมไม่ปรับเปลี่ยน ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ โดยเหตุที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยอายุสั้นที่สุดในโลก เพราะไม่กล้าแม้แต่จะปรับตัวให้เข้มแข็งขึ้นวิธีที่จะอยู่ให้นานคือ ต้องสร้างเครื่องมือมาค้ำจุนได้ ด้วยการปรับเข้าหาประชาชน

ผมจึงขอใช้คำว่า “ถ้า” หมายความว่า ถ้าปรับตัวได้ ก็ประนีประนอมกันได้ ถ้าปรับตัวไม่ได้ ก็แตกหักพังกันไป แต่เวลาพังก็มีสิทธิ์พังหมดทั้ง 2 ฝ่าย ประเทศไทยอาจจะยิ่งกว่าฟิลิปปินส์หลังยุคมาร์คอสด้วยซ้ำ คือแย่ไปหมดทุกภาคส่วน ไม่ว่าเศรษฐกิจหรือการเมือง นี่เป็นสิ่งที่น่ากลัว และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากๆ ซึ่งต้องการสติปัญญาในการแก้ไขอย่างมหาศาล เราต้องช่วยกันภาวนาให้ปี 2564 ดีกว่า 2563 ด้วยความหวังกันต่อไป

การชุมนุมไล่รัฐบาล จะลากยาวไปนานแค่ไหน

การชุมนุมจะลากยาวแน่นอน แต่จะยาวเท่าไร ผมคาดเดาไม่ได้ ดูจากสถานการณ์ตอนนี้ มันอาจขึ้นอยู่กับความอดทนว่าใครจะอึดมากกว่ากัน และใครจะพลาดก่อนกัน พลาดในที่นี้หมายความว่า มันจะมีสิ่งที่เรียกว่าน้ำผึ้งหยดเดียว หรืออุบัติเหตุเรายังไม่รู้ว่าคืออะไร แต่มันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง เช่น หากสถานการณ์ลุกลามไปสู่การนองเลือดจริง นี่อาจจะกลายเป็นหนึ่งในน้ำผึ้งที่ว่าก็ได้ เหมือนเหตุการณ์ช่วง 14 ตุลา ที่ดูท่าว่าจะตกลงกันได้ แต่กลับมีการต่อสู้เกิดขึ้นจนมีคนถูกยิงตาย มีการเอาผ้าห่อศพขึ้นไปแขวนไว้บนพานรัฐธรรมนูญ นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าน้ำผึ้งหยดเดียว ถ้าไม่เกิดสิ่งนี้ขึ้น การชุมนุมอาจจะยื้อออกไปอีก แต่โดยธรรมชาติมนุษย์หากยื้อไปเรื่อยๆ มันจะไปสู่จุดที่หมดแรง เป็นจุดที่คนจะเริ่มรู้สึกว่าต้องจบลงได้แล้ว

ในปีนี้ คิดว่ารัฐบาลต้องเจอกับความท้าทายอะไรอีกนอกเหนือจากม็อบ

ความท้าทายที่ต้องเจอแน่ๆ หนีไม่พ้นปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่มาควบคู่กัน ส่วนการแจกเงินหรือการกู้เงินต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ คงได้ประโยชน์กับคนในระดับกลางไปถึงบน ส่วนคนระดับล่างถือว่ายังยากและยังเข้าไม่ถึงประโยชน์ และในภาพรวมเศรษฐกิจไทย คิดว่ายังยากที่จะโงหัวขึ้นมาได้ ผมมองไม่เห็นว่าจะสามารถฟื้นขึ้นมาได้ในปีนี้ แทบไม่ต้องพูดถึงโอกาสที่จะมีคนใหม่ๆ ขึ้นมาแก้ไขบริหารดูแลทั้งเศรษฐกิจและการเงินการคลัง เรียกได้ว่ายังไม่มีวี่แวว

ทิศทางการแก้รัฐธรรมนูญ

บอกตามตรงว่า มันคงไม่ง่ายที่จะแก้ เพราะถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญแบบนี้ เขาก็อยู่ในอำนาจไม่ได้ เว้นแต่จะมีแรงกดดันที่สูงมากๆ และมีคนที่มีอำนาจ มีอิทธิพลเข้ามาช่วยก็อาจทำได้ เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เกิดปรากฏการณ์ธงเขียว เข้ามามีส่วนช่วยได้เยอะมาก แม้ตอนนี้จะมีเสียงสนับสนุนจากคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยและมีเสียงจากพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็ยังต้องการเสียงจากคนซึ่งไม่ได้มาจากเสื้อเหลือง เสื้อแดง มาร่วมสนับสนุนอีกมาก ฉะนั้น การจะผลักดันให้มีการแก้ไขฉบับปัจจุบัน ถือว่ายังยากอยู่

คิดอย่างไรกับการทำนายของโหรสำนักต่างๆ ว่าปีนี้ การเมืองจะเข้าขั้นวิกฤต ความขัดแย้งจะรุนแรงถึงขั้นอาจเสียเลือดเนื้อหรือปฏิวัติได้

คำทำนายของโหรสำนักต่างๆ ล้วนออกมาในทางเดียวกันว่าปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่วิกฤตความขัดแย้งที่รุนแรง ซึ่งมันสะท้อนและปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกคนต่างวิตกกังวลถึงสภาพอนาคตของประเทศไทย ทั้งนี้ ผมยังเชื่อว่าทางรอดของประเทศคือการประนีประนอมและการปฏิรูป ที่ต้องปฏิรูปทุกด้านอย่างจริงจัง

เราได้บทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศตลอดปี 2563 มาก โดยเฉพาะที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐ เช่น การปฏิรูปกองทัพ ทั้งทหารและตำรวจ เหตุการณ์กราดยิง หรือการทลายบ่อนพนัน การปฏิรูปการศึกษา ข้อเรียกร้องของนักเรียน ซึ่งสะท้อนปัญหาทางวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกและรุนแรง และอีกหลายๆ ด้านที่ปรากฏออกมาตลอดปี ล้วนเป็นสัญญาณว่าประเทศไทยต้องการการปฏิรูปอย่างมหาศาล ซึ่งต้องทำไปพร้อมกันทุกด้านอย่างจริงจัง จะมาเริ่มทำอันนั้นก่อนอันนี้คงไม่ได้ เพราะเวลามันมีไม่พอแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน