คอลัมน์ บทบรรณาธิการ – จริยธรรมส.ส.

ข้อดีด้านหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย นอกจากประชาชนจะตรวจสอบและวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ คือยังทำแบบเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้

เพราะส.ส.มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าจะเป็นตัวแทนพื้นที่ของแต่ละจังหวัด แต่ถือเป็นผู้แทนระดับประเทศ

การปฏิบัติตัวและการทำหน้าที่ของส.ส.ล้วนอยู่ในสายตาการติดตามของประชาชน แม้แต่การใช้คำพูดไม่เหมาะสมก็ถูกทักท้วงและถูกตำหนิอย่างกว้างขวาง

เพราะประชาชนคาดหวังว่า ผู้แทนราษฎรนอกจากทำหน้าที่เป็นตัวแทนแก้ไขปัญหาด้วยกฎหมาย สะท้อนความเดือดร้อนต่างๆ ของชาวบ้าน รวมถึงตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่าง เข้มข้นแล้ว

ควรมีวุฒิภาวะเป็นคุณสมบัติสำคัญด้วย

 

รณีไม่นานนี้เกิดจากส.ส.ใช้คำว่า “ออทิสติก” เพื่อจะสื่อสารเสียดสีบุคคลอื่น ทำให้สมาคมผู้ปกครองออทิซึ่มไทยต้องทำหนังสือส่งถึงประธานสภาผู้แทนฯ เรียกร้องให้ตรวจสอบและตักเตือน

ด้วยเห็นว่าการใช้ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะดูถูกเหยียดหยามและกระทบจิตใจและความรู้สึกของผู้พิการ

ข้อติติงดังกล่าวจากกลุ่มประชาชนที่ได้รับผล กระทบไม่เพียงมีผลกับตัวส.ส. ยังเป็นตัวอย่างทางสังคมที่ต้องระมัดระวังคำพูดลักษณะนี้เพื่อเลี่ยงที่จะสร้างผลลบกับคนร่วมสังคม

 

ทั้งต้องเข้าใจว่าสังคมต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน มากขึ้น เห็นอกเห็นใจมากขึ้น คิดและแสดงออกด้วยความเคารพกันมากขึ้น

สําหรับการตรวจสอบจริยธรรมของสภา ผู้แทนฯ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการจริยธรรมชุดใหญ่พิจารณาตัดสินว่ามีความผิดหรือไม่ อาจเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานาน

แต่ขั้นตอนที่เร็วกว่านั้น คือการทบทวนตนเองของส.ส. โดยรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนไปคิดพิจารณา

หากเห็นว่าตนเองพลาดไปแล้วควรขอโทษผู้ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง หรือหากเห็นว่าประชาชนเข้าใจตนเองผิดต้องชี้แจง

ส.ส.เป็นตำแหน่งมีเกียรติเพราะประชาชนเลือกมา ฉะนั้นควรรักษาเกียรตินี้ด้วยความมีจริยธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน