สัมภาษณ์พิเศษ

รัฐบาลยิ่งบริหาร-ศก.ยิ่งแย่ – หมายเหตุนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง รัฐบาลจะต้องเจอศึกหนักทั้งในและนอกสภา โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤต โควิดที่มีความเกี่ยวโยงกัน โดยเป็นประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้านจะนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ในปีนี้ ถือว่ารัฐบาลเดินทางผ่านมาได้ครึ่งทางแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ครบ 4 ปีหรือไม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายค้านจะทำให้รัฐบาลล้มไป แต่ที่คิดว่ารัฐบาลอาจจะอยู่ไม่ครบเทอม เพราะรัฐสภากำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ ซึ่งการแก้ไขครั้งนี้ แม้จะมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่คงไม่ได้แก้ทั้งฉบับ คงแก้ไขเฉพาะมาตราสำคัญเพียงไม่กี่มาตราก่อน เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้เห็นต่าง

ดังนั้น โอกาสที่รัฐธรรมนูญจะร่างเสร็จภายในปี 2564 ก็มีโอกาสสูง และ คงมีการเลือกตั้งในปี 2565 หรือก่อนหน้านั้น เป็นเหตุให้รัฐบาลอาจจะอยู่ไม่ครบ 4 ปี เพราะเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ ทุกคนคงอยากจะเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ หรืออาจจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปกระทั่งสิ้นอายุของสภานี้ แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ หรืออาจมีบทเฉพาะกาลว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเริ่มใช้หลังจากมีการเลือกตั้งส.ส. ในปี 2566

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมมนูญ มี 3 ฝ่าย คือ พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และส.ว. ซึ่ง ส.ว.ได้รับผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องอำนาจหน้าที่บทเฉพาะกาล ซึ่งผมเห็นว่าประเด็นหลักในการแก้ไข ไม่ได้มีอะไรมาก

หนึ่งในนั้น คือ การแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งทุกคนรวมทั้งส.ว. เห็นควรว่าต้องแก้ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญง่าย และเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่ไปสร้างเงื่อนไขว่าไม่ให้แก้ได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ รวมทั้งประเด็นที่ไม่ให้ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในครั้งต่อไป ผมมองว่าเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ส.ว.จะคัดค้านมากนัก เพราะเขาโหวตเลือกนายกฯมาแล้ว และครั้งหน้าสมมติมีการแก้ไขมาตรา 272 ซึ่งส.ว.ไม่ต้องเลือกนายกฯ

ถามว่าสภาพตอนนี้ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็น นายกฯต่อไป โดยไม่มีการโหวตจากส.ว. พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังเป็นนายกฯได้ เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่โดยไม่ต้องอาศัยส.ว. แตกต่างจากรอบแรกที่การรวมรัฐบาลเสียงยังไม่แน่น

การแก้มาตรา 272 จึงไม่มีความหมายอะไรมาก ดังนั้น การแก้ไขมาตรา 256 ในเบื้องต้นเพื่อให้มีส.ส.ร. ผมมั่นใจว่าผ่าน แต่เมื่อส.ส.ร.ไปร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่ ตรงนี้ต้องไปดูเนื้อหาอีกครั้งหนึ่ง แต่หากได้เท่านั้นก็ถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเราเดินมาได้เกินกว่า ครึ่งทางแล้ว ดังนั้น เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ความพึงพอใจของประชาชนก็ได้ในระดับหนึ่ง ทุกอย่างจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ในรอบนี้คงไม่ได้ แต่หากทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ง่ายขึ้น โอกาสในการแก้ไขรอบต่อๆ ไปเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยก็เป็นไปได้ไม่ยาก

ในส่วนของพรรคประชาชาติ ก็มีคนเข้าไปเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) เราต้องการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงตอนนี้พรรคประชาชาติก็ต้องมอบหมายความไว้วางใจให้ส.ส.ร. ซึ่งเราเห็นตั้งแต่ต้นว่าต้องการส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน 200 คน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าร่างของรัฐบาลจะเหลวไหลจนกระทั่งรับไม่ได้ เพราะเรายังไม่เห็นว่าส.ส.ร.เป็นใครบ้าง เราต้องเห็นหน้าตา และทำงานร่วมกัน จึงจะวิเคราะห์ได้ว่าตัวบุคคลเป็นอย่างไร และสาระของรัฐธรรมนูญที่เขาจะทำเป็นอย่างไร

สำหรับปี 2564 คิดว่าบ้านเมืองคงไม่ดีไปกว่าปี 2563 มากนัก ถ้าดูเรื่องเศรษฐกิจปากท้องประชาชน หลายฝ่ายยังมองว่าเศรษฐกิจปีหน้ายังคิดลบ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำยังสูงอยู่ ที่สำคัญอีกประการคือปัญหาการระบาดของโควิด-19 ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะหมดไปได้ในเดือนไหน ซึ่งทั้งสองเรื่องเกี่ยวโยงกัน ดังนั้น ภารกิจของรัฐบาลก็ยังหนักอยู่ในเรื่องเศรษฐกิจ

ทางด้านการเมือง มองว่าในสภา ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อรัฐบาลทำงานมาระยะหนึ่ง ย่อมมี ข้อบกพร่องท้วงติงเป็นธรรมดา ซึ่งไม่เกินเดือนก.พ. ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็สร้างอุณหภูมิทางการเมืองให้ร้อนแรงได้ในระดับหนึ่ง เพราะฝ่ายค้านต้องหาข้อมูล ข้อบกพร่องของรัฐบาลมาตีแผ่ให้ประชาชนเห็น

เท่าที่ทราบ น่าจะมุ่งที่ประเด็นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลบริหารมา 2 ปี ประชาชนมีแต่จะแย่ลง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีฝีมือ รวมถึงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แน่นอนว่าจะมีผลต่อการบริหารประเทศที่รัฐบาลอาจจะอยู่ไม่ได้ก็ได้ เพราะเรื่องทุจริต เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ค่อยจะยอม

ส่วนการเคลื่อนไหวของม็อบนอกสภา ก็มีความสำคัญ หากม็อบจุดประเด็นติดได้ใจประชาชน อาจเกิดกระแสทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ซึ่ง ขึ้นอยู่กับประเด็นที่ม็อบจุดขึ้นมา และสร้างให้ประชาชนรู้สึกว่าทนไม่ได้จริงๆ

แต่ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถจุดประเด็นให้ได้ใจประชาชนมากพอที่จะล้มรัฐบาลได้ หากจุดประเด็นได้ดี เราจะเห็นว่า หลายครั้งรัฐบาลก็ต้องไปเพราะกระแสนอกสภา แต่ในสภาก็มีความสำคัญ เพราะรัฐบาลจะอยู่ได้ขึ้นอยู่กับเสียงสนับสนุนในสภาว่ามีมากเพียงพอหรือไม่ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีเสียงมากพอที่จะบริหารประเทศได้

หากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ มีน้ำหนัก โดยเฉพาะกระทรวงใดหรือรัฐมนตรีคนใด มีการทุจริตคอร์รัปชั่น จนประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ และทำให้เกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลได้ อาจทำให้รัฐบาลล้มไปหรือกลายเป็นรัฐบาลเสียง ข้างน้อยได้ เราไม่อาจคาดเดาได้ แต่พูดได้ว่าปี 2564 นี้ จะมีทั้งสถานการณ์การเมืองในสภาและนอกสภา ที่รุมล้อมรัฐบาลมากกว่าปี 2563 แน่นอน

ในส่วนการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เราทำงานเพื่อควบคุมรัฐบาล เพื่อประโยชน์ประชาชน แต่บางครั้งความเห็นต่างๆ อาจจะไม่ตรงกันก็ได้ เป็นเรื่องของมุมมองที่ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทุกอย่าง แต่ความเห็นต่าง ต้องอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ประชาชน และชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมีข้อบกพร่องอย่างไร แต่ประสิทธิภาพการทำงานที่แม้ต่างพรรคต่างทำ จะต้องมีความเข้มแข็ง สามารถชี้นำให้ประชาชนเห็นได้ว่า รัฐบาลทำงานบกพร่องอย่างไร เป็นรัฐบาลที่ประชาชนไม่สามารถไว้วางใจได้ เราไม่จำเป็นต้องเป็นเอกภาพเหมือนกันทั้งหมด

ความเห็นต่างกันของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม เรามีการประชุมร่วมกันเพื่อปรับและแบ่งการทำงานกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทั้งหมด สิ่งไหนเห็นไม่ตรงกันก็ต่างคนต่างทำ แต่เป้าหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน

ส่วนการส่งผู้สมัครเพื่อรับเลือกเป็นผู้ว่าฯกทม.นั้น พรรคประชาชาติมีมติแล้วว่า ในส่วนของท้องถิ่น เรายังไม่พร้อมส่งสมาชิกเข้าไปร่วมลงสมัครคัดเลือกไม่ว่าจะระดับไหน เหตุเพราะเราเป็นพรรคเล็ก จึงไม่มีกำลังพอที่จะดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับต่างๆ ทั่วประเทศ แต่เราจะเป็นผู้สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น นี่คือพรรคประชาชาติ ที่เราพร้อมสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ แต่เราไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งสมาชิกในทุกระดับทั่วประเทศได้

การทำงานการเมืองในปัจจุบันมีความลำบากใจหรือความยากในการแสดงจุดยืน มากขึ้นกว่าอดีตหรือไม่

ผมคิดว่าคล้ายคลึงกัน แต่อะไรคือสิ่งที่เราต้องทำ ต้องตัดสินใจ ในการโหวตแต่ละครั้งตรงนี้สำคัญ นั่นคือการยึดประโยชน์ของประชาชน หากพรรคเลือกเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งในการโหวตหรือการทำงาน ย่อมไม่มีวันผิดไปได้ แต่ถ้าพรรคละทิ้งเรื่องประโยชน์ประชาชน การตัดสินใจตรงนั้นผิดแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน