FootNote : ปฏิบัติการตีหม้อไล่เผด็จการ ประสานเสียงจากไทยไปพม่า

ผลการพิสูจน์ทราบจาก #ม็อบ9กุมภา มายัง #ม็อบ10กุมภา มีความเด่นชัดอย่างที่สุดในการตอบต่อข่าวปล่อยอันมาจากปฏิบัติการ IO ของรัฐบาล

นั่นก็คือการเคลื่อนไหวผ่านกระบวนการของ “ราษฎร” มิได้ฝ่อลง หรือแผ่วลงในทางเป็นจริง

ตรงกันข้าม พวกเขาใช้เวลาในการนัดหมายล่วงหน้าไม่ยาวนานเท่าใดนัก ก็สามารถระดมหม้อไห และเครื่องมือในการสร้างสีสันมาแสดงออกอย่างคึกคัก

หากเทียบกับที่เคยปรากฏเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 โดย “เยาวชนปลดแอก” ณ บริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็หนาแน่นมากยิ่งกว่าหลายเท่าในเชิงปริมาณ

แม้จะยังไม่สามารถเทียบได้กับการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม 2563 ไปยังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ก็พอจะอ่านแนวโน้มได้ว่ามีความเป็นไปได้

เป้าหมายที่จะระดมมวลชนให้ได้ถึง 2,000,000 (อ่านว่าสองล้าน) จากแกนนำจึงท้าทายเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

การร่นเวลาเปิดยกที่ 1 ในการเคลื่อนไหวจากที่เคยคาดหมายว่าน่าจะเป็นกลางปีมาเป็นในเดือนกุมภาพันธ์ สัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองอย่างน้อย 2 สถานการณ์

สถานการณ์ 1 เป็นกรณีในประเทศที่มีการใช้มาตรการเข้มกับแกนนำคนสำคัญ และเชื่อว่าจะมีการรุกอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ 1 สัมพันธ์กับรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในประเทศพม่าอย่างแนบแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมประสานทั้งในทางความคิดและในทางการเมือง

ต้องยอมรับว่าปฏิบัติการ “รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ” ได้แรงบันดาลใจมาจากปฏิบัติการ “อนารยะขัดขืน” ของชาวพม่าหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ขณะที่พม่าเองก็รับ “ชู 3 นิ้ว” และผูก “ริบบิ้น” ไปจากไทย

ลักษณะร่วมอย่างสำคัญของพม่าและไทยก็คือ การต้าน “รัฐประหาร” และการต้านบทบาท “กองทัพ” ในทางการเมือง

ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า บทสุดท้ายของการเคลื่อนไหวต่อสู้ของมวลชนในพม่าจะลงเอยอย่างไร เช่นเดียวกับ การเคลื่อนไหวของบรรดา “ราษฎร” ในไทยจะมีคำตอบอย่างไร

เป็นไปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลว การต่อสู้ใน 2 ประเทศนี้จะสัมพันธ์และยึดโยงต่อกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน