บันทึกประเทศไทย ปี 2563 – เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 11 ก.พ. ที่มติชนอคาเดมี สำนักพิมพ์มติชน จัดเสวนา “Matichon Book Talk : บันทึกประเทศไทย ปี 2563” สรุปปรากฏการณ์ร้อนแรงแห่งปี 2563 ด้าน “โควิด เศรษฐกิจ การเมือง”

นำเสนอมุมมอง 3 วิทยากรคุณภาพ นำโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ แห่ง สวทช. ผู้เขียนหนังสือ “COVID-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ” นพ.ทศพร เสรีรักษ์ นักสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมือง และ ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ศิโรฒม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและผู้ดำเนินรายการ

โดยมี นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน เข้าร่วมฟังเสวนาด้วย

หนังสือ “บันทึกประเทศไทย ปี 2563” ว่าด้วย “Timeline ประเทศไทยที่ดีที่สุดด้านโควิด เศรษฐกิจ และการเมือง”

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ กล่าวว่า ในปี 2563 เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองของประเทศไทย ทำให้คนกล้าออกมาพูดในเรื่องที่ไม่กล้าพูด ประชาชนออกมาเรียกร้องกันอย่างกล้าหาญ ถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ไล่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 จะเห็นว่าผู้มีอำนาจไม่มีความจริงใจต่อประชาชนเลย เมื่อประชาชนเข้มแข็งรัฐบาลก็ยอมอ่อนให้ แต่ไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ถ้าอยากให้ประเทศก้าวหน้าผู้มีอำนาจต้องเจรจากับประชาชนอย่างจริงใจ อย่าสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนต้องออกมาลงถนน อย่างล่าสุดที่มีการจับกุมไป 4 คน เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนต้องออกมากันอีก

“จุดแข็งของปี 2563 คือโควิดทำให้คนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพและระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น ควรจะต่อยอดการกระทำนี้ต่อไป โซเชียลมีเดียหรือโลกออนไลน์ก็ทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น อีกทั้งในกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทำให้เห็นความเสียสละของประชาชน ซึ่งความเสียสละนี้เป็นอีกจุดแข็งที่จะทำให้ประเทศก้าวไปสู่อนาคตได้” นพ.ทศพร กล่าว

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ กล่าวว่า ปี 2563 เป็นปีที่ท้าทายต่อมนุษยชาติ โควิดระบาดไปทุกทวีป ยังโชคดีที่วิวัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์สมัยนี้ก้าวหน้า ทำให้สามารถผลิตวัคซีนได้ แต่รัฐบาลกลับนำเงินไปแจกจ่าย เงินที่สร้างวัคซีนจึงต้องรอบริจาค ตนไม่ทราบว่าทำไมรัฐบาลถึงคิดเช่นนั้น เพราะต่างชาติบอกว่าการสร้างวัคซีนเหมือนการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถนำไปต่อยอดได้

และสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2563 ที่นำไปต่อยอดได้คือเรื่องการใส่หน้ากากอนามัยของคนไทยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนป่วยถึงจะใส่ และในเรื่องของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ สถานการณ์ในปี 2563 ดิสรัปต์ชันหรือการเปลี่ยนแปลงแตกหักอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ถูกใช้ในเชิงเทคโนโลยีดิจิทัลหรือโลกธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเข้ามาถึงโลกของสาธารณสุข ที่ทำให้รัฐกระชับอำนาจได้มากขึ้น เช่น มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะเข้ามาควบคุมได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีอำนาจทางเศรษฐกิจ

รัฐบาลโพธิสัตว์แจกเงินและกระชับอำนาจเข้าสู่ตัวเอง เพราะมีอำนาจเงินและอำนาจที่ตัวเองถือครองไว้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือการโยกย้ายถ่ายเทของอำนาจ เราคิดว่าภาคเอกชนจะขับเคลื่อนธุรกิจ แต่กลับกลายเป็นภาครัฐ

หากปี 2563 คือการแจกเงิน ในปี 2564 ก็อยากเห็นรัฐหาทางสนับสนุนประชาชนในทางอื่นมากขึ้น อย่างภาคการท่องเที่ยวที่ทรุดหนักแทบไม่ฟื้น รัฐต้องหันกลับมามองความสามารถของบุคลากรในภาคส่วนนี้ พร้อมกับมองหาตลาดอื่นๆ ที่เมื่อโควิดซา ก็อาจเป็นเป้าหมายใหม่ของภาคการท่องเที่ยวเมืองไทยได้ ขณะเดียวกันก็ต้องคุยเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น คุยกันถึงเรื่องความมั่นคงของคนและการใช้ชีวิต เพื่อให้ประชาชนมีศักดิ์ศรีและมีความมั่นใจในชีวิตมากขึ้น

ทั้งนี้หลังจบการเสวนา นพ.ทศพร ได้นำภาพวาดของนายขรรค์ชัย บุญปาน มามอบเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี มติชน แก่ นายขรรค์ชัย ด้วย

ผู้สนใจสั่งซื้อหนังสือ “บันทึกประเทศไทยปี 2563” คลิกได้ที่นี่ www.matichonbook.com และจะวางขายในร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปหลังวันที่ 12 ก.พ.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน