แนะ‘บิ๊กตู่’กล้าหาญปรับครม.ใหญ่

ปรับครม.ใหญ่ – หลังศาลอาญาชั้นต้น ตัดสินจำคุกแกนนำกปปส. เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2556-2557 มีผลให้รัฐมนตรี 3 คน หลุดจากตำแหน่งทันที เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ

ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) 2 คน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรมว.ศึกษาธิการ และพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) 1 คน นายถาวร เสนเนียม อดีตรมช.คมนาคม ทำให้ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ประกอบกับเพิ่งผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรี ที่มีการวิจารณ์ว่ารัฐมนตรีบางคนชี้แจงไม่เคลียร์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ควรปรับครม.เช่นไร

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)

ขณะนี้มีรัฐมนตรี 3 คนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว แต่การบริหารราชการแผ่นดินคงจะไม่หยุด เพราะยังสามารถมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งกำกับดูแลแทนได้

ถ้ามองในแง่การเมืองเป็นเรื่องที่นายกฯ ต้องตัดสินใจ ใช้จังหวะดังกล่าวปรับครม. ซึ่งทำได้ 2 แบบ ได้แก่ การปรับเล็ก คือซ่อมในส่วนที่ขาดหายไปและปรับใหญ่คือ ถือโอกาสเจรจากับพรรคร่วม รัฐบาลทั้งหมด แล้วดูว่ามีตำแหน่งไหนบ้างที่อยากให้ปรับ

การปรับเล็กไม่ก่อให้เกิดแรงกระพือ ตำแหน่งจะเป็นโควตาเดิม ถ้าเป็นการปรับใหญ่ ต้องมีการสับเปลี่ยนกระทรวง เรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่วุ่นวายพอสมควร เนื่องจากแต่ละพรรคจะคิดว่าอยากได้กระทรวงที่สำคัญ แล้วจะเกิดการเจรจาต่อรอง ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เป็นผลดีต่อรัฐบาล

ขณะเดียวกัน สิ่งที่นายกฯ ต้องประเมินว่าหลังจากที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชาชนรู้สึกขาดศรัทธา หรือรู้สึกไม่ไว้วางใจต่อรัฐมนตรีที่อภิปรายท่านใด ถ้าเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ ควรใช้โอกาสดังกล่าวในการขอปรับเปลี่ยนแปลงแก้ไข

ถ้าพรรครัฐบาลกันเองไม่ได้มีการผลักดันรุนแรง การปรับครม.น่าจะเป็นการปรับแบบเล็กเท่านั้น แต่ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคแสดงท่าทีเคลื่อนไหวต่างๆ จะนำไปสู่การปรับแบบใหญ่ได้

นอกเหนือจากการปรับ 3 เก้าอี้ที่หายไป ตามความเหมาะสมแล้วจะมีความไม่เหมาะสมอยู่ ซึ่งมีมาตั้งแต่การแต่งตั้งรัฐมนตรีรอบแรกแล้ว เพราะจะเห็นได้ว่า การมอบหมายงาน ไม่ตรงกับความรู้ความสามารถ หรือบางตำแหน่งเป็นที่เคลือบแคลงใจของประชาชนมาแต่แรกแล้ว

วันนี้ไม่ได้แปลว่าความรู้สึกเก่าๆ มันหายไป ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกฯ ต้องคิดเองว่าจะใช้จังหวะโอกาสในการปรับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้หรือไม่

ส่วนที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นมีทั้งกระทรวง และนายกฯ ที่ชี้แจงไม่เคลียร์ แต่อยู่ที่นายกฯ จะประเมินเองและถือโอกาสนี้ปรับครม. โดยเอาคนที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำงานหรือไม่ แต่เชื่อว่านายกฯจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการนำคนที่ไม่เหมาะสมเข้ามาทำงานตั้งเต่เริ่มต้นแล้ว

ทุกอย่างเป็นเรื่องของการเมือง การเจรจาต่อรอง เรื่องโควตาพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ดังนั้นอย่าไปหวังอะไรกับการปรับเปลี่ยนในทางที่จะเป็นประสิทธิผล

ถ้าจะเป็นการปรับเปลี่ยนก็เกิดจากการเจรจา ต่อรอง การเรียกร้องของพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงการผลักดันของคนที่มีตำแหน่งจากเล็กไปถึงใหญ่ขึ้น

การปรับครั้งนี้ไม่ได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับนายกฯ จะเอาอย่างไร ทุกอย่างเป็นอำนาจของนายกฯ ที่จะเซ็ตทีมว่าใครจะทำหน้าที่อย่างไร แต่ปัญหาของรัฐบาลคือเรื่องการที่จะประสานผลประโยชน์ที่ลงตัว ถ้าไม่สามารถเสนอสิ่งที่ให้พรรคร่วมรัฐบาลเกิดความพึงพอใจได้ก็จะเกิดปัญหาต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

วิธีการที่จะทำให้ลงตัวได้คือ อย่าไปยุ่งเกี่ยว หลับหูหลับตาไป แล้วซ่อมในส่วนตำแหน่งที่ว่างหายไป จะเป็นวิธีการที่จะกระทบต่อเสถียรภาพน้อยที่สุด

เชื่อว่านายกฯ จะเลือกวิธีนี้ เพราะนายกฯ ไม่เคยแสดงท่าทีจริงใจในการที่จะตั้งครม.ที่ถูกใจประชาชนหรือมีความรู้ความสามารถมาทำงาน

 

ณรุจน์ วศินปิยมงคล
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ถ้าพูดโดยหลักการแล้วควรจะปรับครม.ใหญ่ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาแม้คะแนนที่ได้รับไม่ห่างกัน แต่เห็นชัดเจนว่าการทำงานที่ผ่านมายังมีปัญหาอยู่ในบางตำแหน่ง จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรมีการปรับใหญ่

ขณะเดียวกัน ควรดูที่บาลานซ์เชิงอำนาจในตัวของรัฐบาลเองว่ากลุ่มใครมีกำลังมากน้อยแค่ไหน ซึ่งวันนี้เพิ่งเริ่ม ต้องดูว่าจะมีการเคลื่อนไหวอะไรอย่างไร

นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีขุมกำลังอยู่มากพอสมควรนั้น คงจะลงตัวยากมากพอสมควรเช่นกัน จากการปรับครม.คราวที่แล้วเห็นกันอยู่ว่ากว่าจะลงตัวก็ยากพอสมควร แล้วช่วงนี้มีหลายกลุ่มที่แสดงความไม่พอใจออกมา มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการประลองกำลัง หรือขยับกันพอสมควร

ที่อย่าลืมคือต้องมองไปที่พรรคภูมิใจไทย เพราะได้จำนวนส.ส.เพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่พรรคภูมิใจไทยจะเรียกร้องตำแหน่งเพิ่มขึ้นมา

นอกจากรัฐมนตรีทั้ง 3 คนที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนแล้ว ถ้ามองในเชิงการทำงานกระทรวงที่มีบทบาทมากที่สุดในขณะนี้คือกระทรวงสาธารณสุข แต่ทุกคนรู้ว่าอาจไม่ต้องปรับรัฐมนตรี เพียงแต่อาจมีการปรับการทำงานให้มีผลงานมากขึ้น เพราะช่วงนี้กระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทค่อนข้างมาก แต่ก็มีปัญหามากพอสมควร จึงอยากเห็นการปรับอะไรขึ้นมาบ้างเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

ส่วนของกระทรวงด้านเศรษฐกิจนั้น ควรปรับมากพอสมควร เพราะที่ผ่านมาทุกคนเห็นว่ามีปัญหา และหลังจากนี้จะยิ่งมีปัญหาหนักขึ้นไปอีก ฉะนั้นรัฐบาลต้องโฟกัสตรงนี้ให้มาก

ขณะที่กระทรวงกลาโหมคงเป็นเรื่องยากที่จะมีการไปแตะหรือปรับ เพราะรัฐมนตรีว่าการนั้น นายกฯ เป็นผู้ดูแลเอง

สำหรับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามีความเชื่อมโยงกับเรื่องเศรษฐกิจและได้รับผล กระทบอย่างหนักหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งเชื่อมโยงกับเรื่องต่างประเทศ สาธารณสุข รวมทั้งนโยบายภาพรวมของรัฐ ส่วนตัวมองว่าควรมีการปรับที่ตัวโครงสร้างมากกว่า และถ้าจะปรับก็ต้องไปดูนโยบายของกระทรวงอื่นไปพร้อมกันด้วย

การปรับ ครม.ครั้งนี้ อย่างน้อยเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลฟังประชาชน แต่ก็เข้าใจในเชิงการเมืองที่มีการเปิดโอกาสให้มีการต่อรองอำนาจมากขึ้น ยิ่งถ้าไม่ลงตัวจะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของรัฐบาลอีก แต่อย่างน้อยเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลฟังเสียงฝ่ายค้าน ฟังเสียงประชาชน และถ้าสามารถปรับได้ดี จะสามารถแก้ปัญหาบางอย่างได้ด้วย

ในภาพรวมการปรับครม.ครั้งนี้ยากแน่นอน ทั้งด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และด้วยจำนวนพรรคร่วมรัฐบาลที่มีมาก แต่ควรถือโอกาสปรับใหญ่

 

สุเชาว์ มีหนองหว้า
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐนาวา ควรใช้โอกาสนี้ในการปรับครม.ใหญ่เลย เพราะเก้าอี้รัฐมนตรีที่ถูก ตัดสินโดยศาลเป็นเก้าอี้ของพรรคใหญ่ๆ ที่สามารถส่งคนที่มีฝีมือเข้ามาทำงานแทน เป็นการเสริมความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพในการบริหารงานของนายกฯ ด้วย

รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม ยังมีพรรคการเมืองพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากที่รวมกลุ่มก้อนกันก็ควรให้โอกาสได้แสดงฝีมือในการบริหารประเทศด้วย และจะได้ประโยชน์อีกด้านหนึ่งคือการรักษาฐานเสียงพรรคร่วมรัฐบาล

ส่วนกระทรวงที่ควรปรับ ควรเป็นกระทรวงที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วตอบได้ไม่เคลียร์ และเกี่ยวโยงกับปัญหาที่ทำให้รัฐบาลเสียเครดิต คือ กระทรวงแรงงาน ในช่วงการกระจายของโรคโควิด-19 กระทรวงแรงงานไม่ได้แสดงบทบาทที่เห็นเด่นชัด ไม่แสดงถึงท่าทีเอาการเอางานเพื่อให้ประชาชนมีความอุ่นใจ หลังจากได้รับผลกระทบเรื่องแรงงาน และไม่ต่างจากการที่มีผลกระทบจากปัญหาบ่อนการพนันเช่นกันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อจิตวิทยาของสังคม เช่นกัน

สำหรับกระทรวงอื่นที่ไม่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ผลงานไม่ทันต่อปัญหาของประชาชนคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะประชาชนและเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงสภาวะภัยแล้งโควิด-19 กระทรวงเกษตรฯ ถือว่ามีความสำคัญมากกับความเป็นอยู่ของประชาชนและเกษตรกรส่วนใหญ่ จึงน่าจะแสดงบทบาทมากกว่านี้

อีกกระทรวงที่น่าจะถูกปรับ คือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเห็นว่าหลังจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนัก คิดว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาน่าจะแสดงบทบาทอะไรเพื่อบ่งบอกถึงท่าทีเอาการเอางานของรัฐมนตรีและใส่ใจปัญหาของประชาชน เนื่องจากการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของประเทศไทย รัฐมนตรีจึงเป็นคนที่ต้องเข้าใจปัญหาและรีบแก้ไขปัญหา

ด้านความยากง่ายของการปรับครม.นั้น ความง่ายคือ ข้อมูลที่ฝ่ายค้านอภิปราย ซึ่งทำการบ้านได้ดีมากๆ ถือว่าเป็นข้อมูลที่กระจ่างชัดในระดับหนึ่ง ที่รัฐบาลน่าจะนำมาประกอบการพิจารณาคัดกรองว่าจะปรับกระทรวงไหน

อีกทั้งจะเห็นว่าการทำโพลของมหาวิทยาลัยบางแห่งหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จแล้ว ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของประชาชน เพราะเกินครึ่งมาไม่เท่าไหร่ คิดว่าน่าจะเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างหนึ่งที่รัฐบาลจะนำมาประกอบ ซึ่งถือเป็นเหตุผลที่สะดวกในการพิจารณาปรับครม.

ส่วนความยากคือนายกฯ จะปรับกระทรวงหลักหรือปรับรัฐมนตรีหลักๆ คนเดิมออกหรือไม่ ซึ่งคงต้องใช้ทักษะความสามารถส่วนตัวของพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะประสาน เพื่อดึงคนที่มีความสามารถเข้ามา

นายกฯ ต้องใช้ความกล้าหาญตัดสินใจเพื่อการทำงาน เพื่อประชาชน ถ้าทำได้จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการบริหารงานได้มากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน