บทบรรณาธิการ : หัวอกแม่

หัวอกแม่ : ภาพและเรื่องที่เศร้ามากเมื่อวันสตรีสากล เกิดขึ้นบริเวณหน้าศาลอาญารัชดาฯ ผู้หญิงที่เป็นแม่ ของนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองร่ำไห้เสียใจที่เห็นลูกถูกควบคุมตัวไป

คนที่ปลอบขวัญอยู่ตรงนั้น คนหนึ่งเป็นแม่ของเหยื่ออาสาพยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัด เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553

ทั้งที่วันสตรีสากลน่าจะเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จและความก้าวหน้าของผู้หญิงทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

แต่ผู้หญิงซึ่งทำบทบาทหน้าที่แม่ พี่สาว และพลเมือง กลับต้องเผชิญเหตุการณ์ทุกข์ใจ จนเป็นคำถามว่า สังคมไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

คําถามเรียบๆ จากแม่คนหนึ่งของผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 จากการชุมนุม คือทำไมต้องทำกันถึงขนาดนี้ เราไม่ใช่อาชญากร และอย่างน้อยควรจะให้ครอบครัวได้พูดคุยหรือ ร่ำลากัน

คนเป็นแม่ต้องผิดหวังเสียใจที่เห็นลูกสูญเสียอิสรภาพ ขณะที่ตนเองก็พยายามจะเรียกร้องทวงถามความยุติธรรมให้ลูกที่ไม่ได้ไปปล้นฆ่าฉ้อโกงทำร้ายใคร

เพียงแต่เป็นผู้มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาลและคนอีกกลุ่มในสังคม

นอกจากการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องการปฏิรูปยังถูกจำกัดด้วยกฎหมายควบคุม และอคติทางสังคมแล้ว คนเหล่านี้ยังถูกทำให้เป็นตัวอย่างสำหรับคนอื่นๆ ในสังคม เพื่อให้เกิดความ หวาดกลัว

นำไปสู่การควบคุมโดยฝ่ายมีอำนาจ ยุติการตั้งคำถามและการใช้เหตุผล

หากสังคมมาถึงจุดนี้ ประเทศไทยจะยังได้ชื่อว่ามีน้ำใจ รักสันติ และเป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายหรือไม่

คนเป็นแม่จะกล้าสอนหรือสนับสนุนให้ลูกรู้จักคิด เห็นใจผู้ทุกข์ร้อนและต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของคนในสังคมต่อไปไหวหรือไม่

สมาชิกในครอบครัวจะยอมให้คนที่รักแสดงบทบาททางการเมืองได้อย่างไร โดยเฉพาะคนเป็นผู้หญิงที่อาจต้องประสบชะตากรรมถูกคุมขัง

หรือเพียงปล่อยให้คนมีเอาเปรียบคนไม่มีต่อไปเรื่อยๆ เพื่อลูกจะได้ใช้ชีวิตที่สุขสบาย และคนเป็นแม่จะได้ไม่ต้องเสียใจแบบที่เห็นนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน