คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เสรีภาพทางวิชาการ – ภายในรั้วมหาวิทยาลัย มีนักวิชาการที่แบ่งเป็นสองฝ่ายเหมือนกับสังคมภายนอก ระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับสังคมไทย

เพียงแต่เป็นที่รู้กันในวงการวิชาการระดับโลก ว่าความคิดแบบอนุรักษนิยมไม่เอื้อต่อการประดิษฐ์คิดค้น วิจัย และใช้เหตุผล ได้เท่ากับเสรีนิยม

ยิ่งอยู่ในกรอบความเชื่อและศรัทธาโดยไม่ตั้งคำถาม ไม่พิสูจน์ ยิ่งไม่ใช่วิทยาการ

ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการ มีความสำคัญมากกับคนในรั้วมหาวิทยาลัยมากทั้งกับอาจารย์ และนิสิตนักศึกษา

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจึงมีดัชนีเสรีภาพทางวิชาการเป็นปัจจัยสำคัญ

การปะทะทางความคิดระหว่างสองฝ่ายในรั้วมหาวิทยาลัยมีเหมือนสังคมภายนอกที่มีความขัดแย้งจากการเลือกปฏิบัติต่อคนสองฝ่าย

เหตุการณ์ผู้บริหารในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เก็บผลงานศิลปะของนักศึกษาโดยไม่แจ้งเหตุผลก่อน และมีอาจารย์ศิลปะออกมาเผชิญหน้าและตำหนิถึงการรุกล้ำเสรีภาพทางศิลปะดังกล่าวก่อให้เกิดการถกเถียงไปทั่วประเทศ

การถกเถียงนี้แบ่งฝ่ายเป็นเสรีนิยมกับอนุรักษ นิยมอีกเช่นกัน เพียงแต่มีรัฐมนตรีประกาศตัวอยู่ในฝั่งขวาอย่างชัดเจน

เมื่อกล่าวหาฝ่ายเสรีนิยมว่าเป็นเสรีนิยมที่สุดขั้ว พร้อมข่มขวัญอาจารย์ฝั่งตรงข้ามว่าขอให้เตรียมตัวรับผลที่จะตามมา

ถ้อยคำลักษณะนี้ทำลายบรรยากาศของการถกเถียงและกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอย่างยิ่ง

การใช้อำนาจนิยมสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการไม่ควรรุกล้ำเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัย

โดยเฉพาะในประเทศประชาธิปไตย การเรียนรู้และสร้างสรรค์พัฒนาการทางประชาธิปไตยต้องอาศัยนักวิชาการที่เป็นหลักในการค้นคว้า วิจัย ให้คำตอบทางวิชาการ

หากนักวิชาการหรือครูอาจารย์ไม่มีเสรีภาพ ย่อมกระทบต่อการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะการผลักดันให้รู้จักคิด ตั้งคำถาม ใช้เหตุผล ใช้ข้อมูลศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ ล้วนต้องอาศัยเสรีภาพทั้งสิ้น

เสรีภาพและความรับผิดชอบจะหาจุดสมดุลทางสังคมได้เอง ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจตัดสินหรือวางขอบเขตให้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน