รายงานพิเศษ : จี้จุดยืนรบ.ไทยนองเลือดในพม่า

สุรชาติบำรุงสุข

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

สถานการณ์ในเมียนมาไม่ว่าจะหนักหรือเบาย่อมส่งผลกระทบต่อไทยดังนั้นในสถานการณ์ที่เกิดความรุนแรงมีผู้ลี้ภัยอพยพเข้ามาต่อปัญหาผู้ลี้ภัยนี้รัฐบาลไทยต้องยึดหลักสากลการปฏิเสธไม่รับผู้ลี้ภัยในเวทีการเมืองโลกปัจจุบันไม่เป็นผลดีต่อภาพพจน์ของไทย

และคงต้องตระหนักว่าเวลารัฐบาลที่กรุงเทพฯพูดอย่างหนึ่งแต่ท้องถิ่นปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นภาพไม่ได้ออกจากรัฐบาลที่กรุงเทพฯแต่เป็นการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจาก เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

โดยนัยยะแบบนี้ ในส่วนปัญหาผู้ลี้ภัยไทยถูกจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทด้านมนุษยธรรม จึงต้องเริ่มคิดเหมือนกันว่าถ้าความรุนแรงในเมียนมาปะทุมากขึ้น เมื่อหนีไม่พ้นแล้วไทยจะแสดงบทบาทอย่างไร จะเปิดเวทีอย่างไรที่ทำให้ทุกคนตระหนักว่าในขณะที่ไทยแบกรับปัญหาผู้ลี้ภัย โลกเองก็อาจต้องเข้ามาช่วยเหลือ

ส่วนปัญหาความสัมพันธ์ในทางการทูตท่าทีของรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากว่ารัฐบาลเมียนมาเกิดการยึดอำนาจจึงเหมือนเกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทหารสองฝ่ายจริงหรือไม่จริงอย่างน้อยก็ถูกตีความได้ทันทีว่าผู้นำทหารที่กรุงเทพฯเสมือนเป็นผู้สนับสนุนอาจจริงหรือไม่จริงแต่ก็ทำให้คนเกิดความเข้าใจไปในทิศทางนั้น

ความเข้าใจแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ผู้นำไทยไปพบ รมว.ต่างประเทศของเมียนมาที่ดอนเมือง ไม่ว่าการพบกันจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่การไปพบกันแล้วเกิดเป็นข่าวไม่น่าจะเป็นผลดี

ขณะเดียวกัน ช่วงหลังหลายฝ่ายเริ่มรู้สึกว่ารัฐบาลไทยไม่ได้แสดงบทบาทแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร จะเห็นได้ว่าวันนี้ในเวทีการทูต ญี่ปุ่นเริ่มคุยกับทางอินโดนิเซีย บอกให้อินนีโดฯ ผลักดันอาเซียนให้เป็นผู้แก้ปัญหา ล่าสุดผู้แทน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดฯ มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ไปเยือนจีนเพื่อถกปัญหาความรุนแรงในเมียนมา

คำถามที่เกิดขึ้นในเวทีการทูต คือบทบาทของไทยหายไปไหน ขณะเดียวกัน เราเป็นประเทศหลักในอาเซียนและเป็นประเทศผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาที่เกิดขึ้น บทบาทที่หายไปสะท้อนเหมือนว่าไทยวางเฉย

ผู้นำไทยจะพูดอยู่คำเดียวคือเดินตามหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของอาเซียนซึ่งหลักการนี้วันนี้เริ่มถูกทักท้วงจากหลายฝ่ายทั้งจากบุคคลที่ทำงานด้านต่างประเทศในไทยรวมถึงคนที่ทำงานด้านต่างประเทศในภูมิภาคที่บอกว่าหลักการแบบนี้อาจต้องทบทวนเนื่องจากความเสียหายและการเสียชีวิตของประชาชนในเมียนมามีจำนวนมากขึ้น

ในบริบทแบบนี้ผู้นำไทยที่ยืนคำพูดคำเดียวนั้นกำลังถูกมองว่าที่บอกว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในคือไทยยอมรับการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในเมียนมาใช่หรือไม่ภาพที่เกิดขึ้นแบบนี้เสมือนหนึ่งวันนี้รัฐบาลไทยแอบขยิบตาไม่มองความรุนแรงในพม่าและปล่อยด้วยท่าทีที่วางเฉย

วันนี้ถ้าไทยจำเป็นต้องแสดงบทบาทถือว่ามีเหตุผลที่ชอบธรรมเพราะเราเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงไทยสามารถแสดงบทบาทเชิงมนุษยธรรมได้เป็นคนกลางคลี่คลายปัญหาระหว่างฝ่ายรัฐบาลทหารกับฝ่ายประชาธิปไตย

รวมถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามมา คือปัญหาสงครามตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงต่อไทยอีกประเด็นหนึ่ง ไทยเข้าไปช่วยได้แต่ไม่ใช่การเข้าไปช่วยกดดันชนกลุ่มน้อยเปิดช่องให้ทหารเมียนมาเปิดปฏิบัติการได้ง่ายขึ้น

ในสภาวะแบบนี้ ผู้นำฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะผู้นำระดับสูงไม่ว่าจะเป็น รมว.ต่างประเทศคนคุมงานความมั่นคงรัฐมนตรีตามสายงานต่างๆที่เกี่ยวข้องถึงเวลาต้องคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังจะคิดแบบคนหลับตาไปเรื่อยๆไม่ได้

เพราะความรุนแรงในเมียนมาปรากฏในเวทีโลก และเวทีระหว่างประเทศไม่ยอมรับ หากไทยยังวางเฉยจะยิ่งกลายเป็นผู้ร้าย หรือตกเป็นจำเลยร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดุลยภาคปรีชารัชช

คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมา

สถานการณ์ความรุนแรงในพม่าตอนนี้อาจแบ่งเป็นนโยบายต่างประเทศ และนโยบายป้องกันประเทศ ใน 3 ระดับ 1.ระดับพื้นที่ชายแดน มีผู้อพยพและผู้หนีภัยจากการสู้รบ ไทยหรือหน่วยงานความมั่นคงควรให้ความช่วยเหลือ และให้ที่พักพิงชั่วคราว

2.นโยบายต่างประเทศที่มีต่อเมียนมาโดยตรง คณะรัฐประหารที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือ พล..มินอ่องไหล่กับโซวินมีศูนย์อำนาจอยู่ที่เนปยีดอร์พร้อมกองทัพเมียนมาหลายแสนนาย

ขณะเดียวกัน มีการจัดตั้งรัฐบาลคู่ขนาน เป็นรัฐบาลพลัดถิ่นซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชุมชนนานาชาติ สหประชาชาติ คนพม่าที่เรียกร้องประชาธิปไตย กลุ่มคู่อำนาจใน NLD ปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตยนิยม กองกำลังชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม

ถ้าในอนาคตรัฐบาลคู่ขนานนี้ฟอร์มตัวได้อย่างมั่นคง รัฐไทยจะวางท่าทีเช่นไร นโยบายต่างประเทศต้องชั่งประโยชน์และดูสถานการณ์ ไม่ควรรีบเลือกข้าง

3.มิตินโยบายต่างประเทศอีกประการ คือ เกมในเมียนมาตอนนี้เป็นยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศไปแล้ว มีสหรัฐ สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศตะวันตก แม้กระทั่งการชงประเด็นต่างๆ ในกองกำลัง UN หรือนาโต้อีกขั้วหนึ่งอย่างน้อยมีจีนและรัสเซียไทยจะวางสมดุลแห่งอำนาจอย่างไรหรือจะใช้เวทีอาเซียนช่วยระงับความขัดแย้งในเมียนมาแต่จะฟังไทยหรืออาเซียนหรือไม่เพราะเขาก็มีจีนและรัสเซีย

หลายประเทศก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการเลือกนโยบายต่างประเทศอย่างชัดเจนต่อเมียนมา แม้กระทั่งอินเดีย ก็ยังไม่มีท่าทีแข็งขันกดดัน เพราะมันมีระบบความมั่นคงตามแนวชายแดนผู้ลี้ภัยก็ทะลักเข้าอินเดีย

โดยบรรทัดฐานปฏิบัติอาเซียนจะเน้นการไม่แทรกแซงกิจการภายในที่ผ่านมาไทยมีการแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์เช่นนายทักษิณชินวัตรอดีตนายกฯกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมาโดยเน้นเรื่องการค้าขายและการลงทุนไม่ไปกดดันทางการเมืองเป็นการสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากกว่า

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องปฏิสัมพันธ์อย่างยืดหยุ่นอย่าไปเคร่งครัดว่าจะแทรกแซงกิจการภายในไม่ได้บางครั้งมันกระทบต่อภูมิภาคหรือประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนบ้านก็มีสิทธิใช้มาตรการกดดัน

หากไทยเพิกเฉยกระทบต่อภาพลักษณ์แน่นอนเพราะมีรัฐจำนวนไม่น้อยที่ออกมาประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งนี้ไทยก็ควรแสดงท่าทีว่าไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ความรุนแรงฆ่าล้างประชาชนในเมียนมาเหมือนกันหากมีการอพยพเข้ามาเราก็พร้อมให้ที่พักพิง

แต่ขณะเดียวกันไทยก็ต้องแสดงจุดยืนว่าเงื่อนไขของเราเป็นลักษณะพิเศษไม่เหมือนหลายประเทศที่ไม่ได้มีพรมแดนติดเมียนมาและไม่ได้มีรากฐานสัมพันธ์ยาวนานกับเมียนมาในเรื่องประวัติศาสตร์

รัฐบาลไทยควรพูดลักษณะความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไทยกับเมียนมา เรามีผลประโยชน์การค้าขายและระบบความมั่นคงตามแนวชายแดน ไทยต้องรักษาความสัมพันธ์ตรงนี้ไว้เช่นกัน และขณะที่รัฐไทยต้องทุ่มทรัพยากรต่างๆ ตรึงแนวชายแดน ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงโควิด จึงไม่ควรแบกรับอยู่ฝ่ายเดียว รัฐบาลเมียนมาก็ต้องลดระดับความรุนแรงด้วย

ทางหนึ่งต้องดูแลผู้อพยพให้พอเหมาะพอควร อีกทางหนึ่งต้องบริหารความสัมพันธ์กับคณะรัฐประหารเมียนมาไม่ให้แคลงใจกัน และไทยอาจเล่นบทตัวเชื่อม ดึงรัฐบาลเมียนมาหรือคู่ขัดแย้งมาคุยกัน ต่อยอดด้วยการนำอาเซียนเข้ามาร่วมคุย ถ้าทำได้ในทางมนุษยธรรมจะไม่ถูกก่นด่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเมียนมาก็ยังเป็นไปด้วยดี

เราไม่รู้ว่าฝ่ายไหนจะชนะและไม่รู้ว่ามหาอำนาจตะวันตกจะทำอย่างไร แต่ตอนนี้เห็นแล้วว่าจีนกับรัสเซียเริ่มโยกเข้าหาเมียนมา ซึ่งผมมองว่าน่ากลัว หากทหารเมียนมาถูกกดดันจากโลกตะวันตกก็อาจไปหารัสเซีย ซึ่งไม่ดีต่อดุลยภาพความมั่นคงในเขตเอเชียเราต้องเล่นศิลปะทางการทูตและดูสถานการณ์ให้ดี

ศรีประภาเพชรมีศรี

ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาม.มหิดล

การที่ผู้นำไทยบอกว่ายึดหลักการอาเซียนไม่แทรกแซงกิจการภายในทั้งที่วิเคราะห์สถานการณ์ได้อยู่แล้วว่าจะมีผลกระทบถึงไทยและรัฐบาลไทยก็ยังไม่มีท่าทีชัดเจนในแง่ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันในหลายเรื่องว่าจะมีท่าทีและแนวทางพูดคุยกับรัฐบาลทหารเมียนมาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรมีอะไรที่รับไม่ได้กระทรวงต่างประเทศและฝ่ายความมั่นคงก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

ขณะที่ระดับภูมิภาคเขาคาดหวังว่าไทยในฐานะประเทศที่มีความใกล้ชิดที่สุด และน่าได้รับผลกระทบมากที่สุด และคิดว่าไทยจะทำตัวเป็นผู้นำระดับอาเซียน แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ กลายเป็นว่าอินโดฯ สิงคโปร์ ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ มีการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้อาเซียนทำอะไรบางอย่าง

ไทยเพียงออกแถลงการณ์สั้นๆ เรียกร้องให้ยุติความรุนแรง แต่ก็ไม่ได้มีความหมายมากกว่านั้น หลังจากนั้นกรมสารนิเทศ ก็มีแถลงการณ์ออกมาว่าสถานการณ์ในเมียนมา ยังไม่ได้รุนแรงถึงขั้นน่าเป็นห่วงจนต้องอพยพคนไทยออกมา เหมือนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ทั้งที่หลายประเทศคาดหวังไทยจะเป็นผู้นำให้อาเซียน และมีบทบาท เหมือนสมัย นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาฯ อาเซียน ดำเนินการ ปัจจุบันเราไม่ได้คนที่มีภาวะผู้นำขนาดนายสุรินทร์ จึงเห็นท่าทีในลักษณะลังเล ตัดสินใจไม่ได้ ซึ่งไม่ได้ช่วยประเทศเลย

มีการตั้งคำถามว่าสถานการณ์ในเมียนมาเข้าข่าย 4 ประเด็นอาชญากรรมที่นานาชาติสามารถแทรกแซงได้หรือไม่ซึ่งผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมายืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาคืออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติและต้องการการแทรกแซงจากประชาคมนานาชาติ

ไทยควรจะรู้ว่าสถานการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตนับ 100 คนและ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เสียชีวิตคือเยาวชนอายุ 16-25 ปี ดังนั้น ถ้าไทยยังเพิกเฉยก็คิดว่าเวลานี้ไทยสูญเสีย ภาพลักษณ์ต่อประชาคมนานาชาติไปแล้วถ้าดูไม่ผิดคงต้องการรักษาภาพลักษณ์กับทางเมียนมาโดยลืมไปว่าภาพลักษณ์ของตัวเองในระดับนานาชาติก็เสียไปแล้วที่สำคัญคงไม่ใช่เรื่องภาพลักษณ์กับเมียนมาแต่ตอนนี้คือเรื่องผลประโยชน์ของใคร

ไทยต้องทบทวนท่าทีว่าควรเพิกเฉยหรือชัดเจนเสียทีที่สำคัญไทยต้องร่วมมือกับประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์รวมถึงอินโดฯ ที่พยายามอย่างมากที่จะขอความร่วมมือกับไทย ไทยควรร่วมมือกับสมาชิกอาเซียนผลักดันให้อาเซียนทำอะไรสักอย่าง จะอยู่แบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ การเริ่มตอนนี้ก็ถือว่าช้าแต่ยังไม่สายเกินไป

เรื่องผู้ลี้ภัยและการแสวงหาที่ลี้ภัยเป็นเรื่องสำคัญ สหประชาชาติก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือ จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ ที่ผ่านมาก็รู้ว่าต้องช่วยอยู่ดี ฉะนั้นควรทำให้เป็นระบบ และต้องยอมรับว่าจะไปกำหนดกรอบเวลาส่งกลับเป็นเรื่องยาก เพราะที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งตามจังหวัดต่างๆ เวลานี้ผ่านมา 37 ปียังพาคนเหล่านี้ไปไหนไม่ได้

ปัญหาอย่างหนึ่งคือ เราไม่เคยเรียกว่าค่ายผู้ลี้ภัยแต่เรียกศูนย์พักพิงชั่วคราว ไม่เคยเรียกว่าผู้ลี้ภัย แต่เรียกว่าผู้หนีภัยการสู้รบ เราไม่เคยยอมรับว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย เมื่อไม่ยอมรับจะส่งไปประเทศที่ 3 ก็ไม่ได้ทั้งที่เป็นไปตามหลักทั่วไป

ดังนั้น ประเทศไทย ควรนำระบบคัดกรองมาใช้ในเวลานี้ได้แล้ว กำหนดว่าใครคือผู้ที่ต้องการการคุ้มครองระหว่างประเทศ ใครเป็นผู้ลี้ภัย ลองใช้กลไกนี้เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำ ไม่ได้ใช้กลไกนี้มาแก้ปัญหา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน