รักษาชีวิต : บทบรรณาธิการ

รักษาชีวิต – การต่อสู้เพื่อทวงคืนประชาธิปไตยทั้งของเมียนมาและของไทย บ่งบอกว่าต่างอยู่บนเส้นทางที่ยากลำบากมาก

เหตุการณ์รัฐประหารของไทยเกิดก่อน 7 ปี และยังมีกลุ่มประชาชนทวงคืนประชาธิปไตยอยู่จนชนเหตุการณ์รัฐประหารของเมียนมาในปีนี้

แม้ไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปที่ดูเหมือนจะฟื้นคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติในช่วงรัฐประหารยังคงตกทอดและส่งผลทางลบถึงปัจจุบัน

สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการคงอยู่ของส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร มีส่วนทำ ให้กลไกทางประชาธิปไตยติดขัด อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติกลายเป็นพิธีกรรม

ส่วนฝ่ายบริหารใช้กฎหมายมากมายหลายฉบับสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มขอคืนประชาธิปไตย พร้อมใช้สถานการณ์โควิดจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แม้พื้นที่ระบาดอยู่คนละส่วนมาโดยตลอด

ด้านสถานการณ์ในเมียนมา คณะรัฐประหารใช้กองกำลังความมั่นคงปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารอย่างไม่ลดละ ทั้งที่รู้ว่าโลกไม่ยอมรับ

ยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงสูงกว่า 600 ราย ทำให้ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติต้องเดินทางมาไทยเพื่อขอเข้าเจรจากับกองทัพเมียนมา แต่สุดท้ายกลับถูกปฏิเสธเข้าประเทศ

คณะรัฐประหารยังแถลงข้อมูลผู้เสียชีวิตว่าจริงแล้วอยู่ที่ 248 ราย หรือครึ่งเดียวจากที่เป็นข่าว

ตัวเลขที่ต่างกันมากอาจเป็นเรื่องโต้แย้งทางสถิติ แต่เมื่อพูดถึงชีวิต ไม่ว่า หกร้อย หรือสองร้อย หรือหนึ่ง ล้วนไม่ควรถูกพรากชีวิตด้วยความรุนแรงและไร้เหตุผลเช่นนี้ทั้งสิ้น

สําหรับประเทศไทย แม้ไม่มีการปราบปรามด้วยอาวุธร้ายแรงเหมือนกับเมียนมา แต่สิ่งที่แกนนำผู้ชุมนุมประสบอยู่เป็นคำถามถึงเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกันว่า สมควรต้องใช้กฎหมายเอาผิดรุนแรงเช่นนี้หรือ

การแสดงความเห็นที่ต้องการทวงคืนประชาธิปไตยและเรียกร้องขอความยุติธรรมในการต่อสู้คดีอย่างปัญญาชน สมควรถูกจับกุมตั้งข้อหาและผลักไสให้เข้าไปในเรือนจำหรือไม่

ขณะนี้มีชีวิตของผู้ถูกคุมขังต้องเสี่ยงอันตรายจากการประท้วงอดอาหาร ซึ่งฝ่ายมีอำนาจย่อมปัดได้ว่าไม่ใช่เรื่องของตน เป็นเรื่องที่ปัจเจกชนเลือกเอง

แต่หากมีความสูญเสียเกิดขึ้น จะเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบ และยากยิ่งที่จะตอบคำถามว่าเหตุใดไม่รักษาชีวิตของคนคนหนึ่ง ด้วยกระบวนการที่มีเมตตาและให้ความเป็นธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน