มุมมองของกสม. : บทบรรณาธิการ

มุมมองของกสม. – การเปิดรายงานประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2563 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. มาบรรจบกับสถานการณ์ตึงเครียดของโรคระบาดโควิด-19 ขณะนี้พอดี

รายงานฉบับล่าสุดของกสม. เป็นอีกฉบับที่มีรายละเอียดแสดงความเข้าอกเข้าใจรัฐบาลเป็นอย่างดี และแตกต่างจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งสากลและของไทยกลุ่มอื่นๆ

กสม.ชื่นชมที่รัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดหลายประการเพื่อควบคุมเชื้อโรค

แต่ไม่เอ่ยถึงการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินทุกช่วงเวลาไม่ว่าระบาดมากหรือระบาดน้อย ไม่เอ่ยถึงการใช้มาตรา 112 จับกุมคุมขังแกนนำผู้ชุมนุม และไม่เอ่ยถึงสิทธิที่ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองสมควรได้รับการประกันตัว

แม้ว่าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 และเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนโดยตรง

สําหรับสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องทาง การเมือง กสม.ระบุว่าจากการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์การชุมนุม ส่วนใหญ่พบว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรง

เพียงระบุถึงเหตุการณ์วันที่ 16 ต.ค. 2563 ว่าการฉีดน้ำแรงดันสูง ผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุม เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ หลังปรากฏภาพและพฤติการณ์ที่ชัดเจนและเป็นข่าวไปทั่วโลก

ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ กสม. มองว่า รัฐยังคงทำหน้าที่ดูแลการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนโดยไม่ได้แทรกแซงการใช้เสรีภาพดังกล่าว

มุมมองนี้น่าจะเป็นคำถามใหญ่อีกเช่นกัน ว่ามุมของกสม. อาจไม่ได้มองกรณีเจ้าหน้าที่รัฐไล่ฟ้องดำเนินคดีผู้ชุมนุมย้อนหลังอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้ออ้างทางกฎหมายควบคุมโรค

ทั้งที่การชุมนุมไม่เคยเป็นจุดที่แพร่เชื้อโควิด-19

สิ่งที่ประชาชนทั่วไปตั้งคำถามอยู่ขณะนี้ จึงเชื่อมโยงกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2563 คือการใช้กฎหมายด้านความมั่นคงเพื่อควบคุมเชื้อโรคมีประสิทธิภาพต่อระบบสาธารณสุขจริงหรือไม่

การใช้อำนาจนั้นเป็นข้ออ้างสำหรับการละเมิดหรือลดทอนสิทธิมนุษยชนด้วยหรือไม่

โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่การแพร่ระบาดมาจากสถานบันเทิงหรูหราในกรุงเทพฯ ที่เพิ่งพบว่าผิดกฎหมาย รอดสายตาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แข็งขันกับการจับกุมผู้ชุมนุมมาได้อย่างไร

การเคารพและรักษาสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของสังคมมนุษย์ มีข้อยกเว้นได้ด้วยหรือ

กสม.ควรจะตอบเรื่องนี้ได้ดีกว่าใครๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน