FootNote : ย้อนอดีต Flash Mob ปี 63 มายัง ปฏิบัติการ “ยืน หยุด ขัง”

เหมือนกับการหวนคืนมาของ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ในพื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาลจะเป็นความกังวลอัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดขึ้นและ ส่งมอบไปยัง “กองบัญชาการตำรวจนครบาล”
เห็นได้จากคำประกาศอันแข็งกร้าวสำแดงความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมที่จะนำ “กฎหมาย” มาจัดการ
แต่ร่องรอยหนึ่งอันสะท้อนความกังวลอยู่เงียบๆ สัมผัสได้จากท่าทีของการเคลื่อนไหวรุกเข้าไปเป็นลำดับของสน.ชนะสงครามจนสามารถกดดันให้ยุติการเคลื่อนไหวได้ในวันที่ 15 เมษายน
กระนั้น ผลสะเทือนหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้ามก็คือ มีการเคลื่อนไหว “ยืน หยุด ขัง” เกิดขึ้นในตอนเย็นของวันที่ 15 เมษายน ที่ เชียงใหม่ ลำพูนและอุบลราชธานี
ขณะที่กล่าวสำหรับการเคลื่อนไหว “ยืน หยุด ขัง” ในพื้นที่หน้าศาลฎีกาล่าสุดในวันพุธที่ 14 เมษายน จากการเชิญชวนของกลุ่ม
OctDem ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมจำนวนมากถึงกว่า 400 คน
และต่อไปทุกวันเสาร์นับแต่วันเสาร์ที่ 17 เมษายน “กลุ่มราษมัม” จะปฏิบัติการ “ยืน หยุด ขัง” หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ต้องยอมรับว่าการริเริ่มเคลื่อนไหว “ยืน หยุด ขัง” โดยกลุ่มพลเมืองโต้เผด็จการ หากมองในเชิงปริมาณ เป็นการริเริ่มจากปริมาณผู้ไปยืนจำนวนน้อยมากไม่ถึง 10
กระนั้น หากมองในเชิงคุณภาพทางการเมืองกลับเป็นการสำแดงออกที่ทรงพลังเป็นอย่างสูงในทางความคิด
เนื่องจากกติกาของการ “ยืน หยุด ขัง” นั้นกำหนดกรอบไว้ที่ 112 นาที ขณะเดียวกัน ระหว่างการ “ยืน หยุด ขัง” ก็จะมีการถือป้ายหรือนำเอาป้ายเรียกร้องมาแขวนตามแต่จะสะดวก
ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ เมื่อถึงเวลา 112 นาทีก็จะมีการเปล่งคำขวัญออกมาว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” เป็นเช่นนี้ทุกวันไม่ว่าจะมีคนเพียง 10 คน ไม่ว่าจะมีคนมากกว่า 100 คน
การเคลื่อนไหวนี้จึงเป็นเพียง “การยืน” ไม่มี “การปราศรัย”
นับแต่วันที่ 22 มีนาคม กระทั่งมาถึงวันที่ 14 เมษายนก็เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด เป็นการเคลื่อนไหวอย่างสงบ สันติ อหิงสา

เมื่อเห็นการแพร่กระจายออกไปของ “ยืน หยุด ขัง” จากหน้าศาลฎีกา กรุงเทพมหานคร ไปยังจุดอื่นในต่างจังหวัด หลายคนนึกถึงกระบวน การเคลื่อนไหว Flash Mob ในปี 2563
เพราะเป็นการเคลื่อนไหวในเชิง “เนื้อหา” ที่เริ่มจาก “ปริมาณ” ไม่มากนัก แต่ก็แพร่กระจายออกไปในขอบเขตทั่วประเทศจนได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน