คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

วงจรโควิด : แม้ผ่านพ้นวันหยุดยาวสงกรานต์มาแล้ว แต่สภาพการณ์ยังคล้ายๆ วันหยุดต่อเนื่อง ซึ่งต้องต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน

หน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการและเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไปยังต้องใช้มาตรการทำงานอยู่บ้าน หรือ เวิร์ก ฟรอม โฮม เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19

สภาพการณ์ดังกล่าวคล้ายกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่โควิดเริ่มระบาดระลอกแรก ซึ่งมีต้นตอหลักจากสนามมวยลุมพินีและสถานบันเทิง ทับซ้อนกับช่วงวันหยุดสงกรานต์ ซึ่งผู้คนเดินทางกลับบ้าน ทำให้เชื้อลามต่อไปทั่วประเทศ

วิธีการรับมือของรัฐบาลเน้นหนักไปที่การจัด โรงพยาบาลสนาม การจัดหายารักษาผู้ป่วย ไปจนถึงการควบคุมราคาสินค้าอุปกรณ์ป้องกันเชื้อต่างๆ

กลายเป็นวงจรหมุนเหตุการณ์ต่างๆ กลับมาที่เดิม

เมื่อวงจรเชื้อระบาดและวิธีแก้ไขปัญหาของรัฐบาลหมุนกลับมาที่เดิม จึงสะท้อนว่าช่วง 1 ปีนี้ประเทศไทยจะมีช่วงเวลาขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงการเมืองที่หายไป

สังคมอยู่ในสภาพตึงเครียด เพราะต้องใช้ชีวิตต้องระมัดระวังอย่างเข้มงวดอยู่ตลอดเวลา แม้แต่กับคนในครอบครัว

เศรษฐกิจชอร์ต แม้รัฐบาลไม่ได้ประกาศเคอร์ฟิวหรือล็อกดาวน์อย่างเป็นทางการ
การเมืองสะดุดและนิ่งงัน แม้แต่รัฐมนตรีและ ผู้บริหารหน่วยงานราชการติดเชื้อและป่วย

ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่รัฐจำกัดการเคลื่อนไหว ในที่นี้รวมถึงกิจกรรมเรียกร้องอิสรภาพให้คนที่อยู่ในเรือนจำ

การเข้าสู่วงจรโควิด-19 ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค. 2563 มาถึงปัจจุบัน เมื่อดูถึงการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว สะท้อนว่ารัฐบาลยังไม่ได้เตรียมพร้อมหรือเตรียมแผนสำหรับการเผชิญโรคระบาดระลอก 2 หรือ 3 หรือต่อๆ ไปอีก

ยิ่งเมื่อหลายๆ ประเทศสร้างความแตกต่างระหว่างปี 2563 กับ 2564 ด้วยการกระจายวัคซีนแล้ว ยิ่งเห็นภาพได้ชัดเจน

จากนี้ไปรัฐบาลจึงต้องรับมือกับโจทย์ใหญ่ เรื่องการเยียวยาและการฟื้นฟูตามมา ซึ่งต้อง ใช้เงินอีกมหาศาลและอาจมากกว่าการกู้ 1 ล้านล้านบาท

คำถามเรื่องการใช้เงินของรัฐจะกลับมาอีก ในที่นี้รวมถึงงบจัดซื้อเรือดำน้ำที่อยู่ในความสนใจของประชาชนมาโดยตลอด

เป็นไปตามวงจรอีกเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน