ยอดผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากการระบาดในระลอกสาม แพร่กระจายขยายไป ทั่วประเทศแล้ว จนทำให้จังหวัดต่างๆ กว่าครึ่งประเทศ กำหนดให้ผู้มาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัว รอดูอาการ 14 วัน

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด ยังกำหนดมาตรการกับผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเวลาออกนอกบ้าน โดยปรับในอัตราที่สูงไม่เกิน 2 หมื่นบาท

รวมถึงสั่งปิดพื้นที่เสี่ยงที่เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค ได้แก่แหล่งชุมนุมชน สถานบริการ สนามกีฬา งดการจัดงานรื่นเริงและงานอื่นๆ ที่เป็นการรวมคนให้มาอยู่พื้นที่เดียวกัน หรือถ้าจะจัดก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

แม้ว่าจะเข้มงวดเพียงไร แต่ก็ยังมียอดป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

น่ากังวลและน่าเป็นห่วงอย่างมากว่าสถานการณ์การระบาดขณะนี้ อาจจะไม่สามารถควบคุมได้เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะตั้งแต่วันที่ 14 เมษายนจนถึงปัจจุบัน มียอดผู้ป่วยเกินวันละ 1,000 รายอย่างต่อเนื่อง

เฉพาะวันที่ 22 เมษายนเพียงวันเดียว มีผู้เสียชีวิตถึง 7 ราย หากนับรวมตั้งแต่มีการระบาดเมื่อต้นปี 2563 มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 117 รายแล้ว และเมื่อดูยอดผู้ป่วยซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยอดการเสียชีวิตก็คงจะสูงตาม

ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข รายงานสถิติผู้เสียชีวิตว่าระลอกแรกปี 2563 ตาย 67 ราย จากผู้ป่วย 6,772 ราย ระลอกที่ 2 เดือนม.ค.-มี.ค.2564 ตาย 27 ราย จากผู้ป่วย 21,035 ราย และระลอกที่ 3 เดือนเม.ย. ตาย 16 ราย จากผู้ป่วย 17,780 ราย

ระลอกแรกตายมากที่สุดคือช่วงวัย 40-59 ปี ระลอก 2 และระลอก 3 คือ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้ง 3 ระลอกเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว

การระบาดของโควิด-19 สร้างความหายนะทางด้านเศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลก แต่ในบางประเทศมีการวางแผนบริหารรับมือภัยพิบัติใหญ่ในครั้งนี้อย่างเป็นระบบ

สำหรับประเทศไทย ตระหนักรู้และสามารถรับมือการระบาดได้อย่างดีในระลอกแรกๆ จนได้รับ การชมเชยจากหน่วยงานด้านสาธาณสุขระหว่างประเทศ จนทำให้รัฐเกิดความชะล่าใจ

การจัดหาวัคซีน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ป้องกันการระบาดของโรคนี้ได้ดีที่สุด เป็นไปอย่างเชื่องช้าและคอยรอ จนหลายฝ่ายออกมาเตือนว่าอย่าแทงม้าเต็งเพียงตัวเดียว

สุดท้ายก็กลายเป็นประเทศที่ตามหลังชาติอื่นๆ เพราะประมาทคิดว่าสามารถควบคุมได้ใช่หรือไม่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน