ส่องปรากฏการณ์ย้ายประเทศ

ย้ายประเทศ : เป็นกระแสในโลกโซเชี่ยลที่ฮือฮาอย่างมาก สำหรับการตั้งกลุ่มย้ายประเทศกันเถอะ ที่ล่าสุดเปลี่ยนชื่อเป็นโยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย

หลังเปิดเพจได้แค่ 7 วัน ผู้ติดตามพุ่งพรวดทะลุ 9 แสนคน

เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการบริหารของรัฐบาล ใน 2 ประเด็นหลักที่เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้าย

ทั้งเรื่องประสิทธิภาพการแก้ปัญหาโควิดของรัฐ และการจับกุมคุมขังแบบเลือกปฏิบัติต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

สุรชาติบำรุงสุข

รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

การย้ายประเทศเป็นภาพสะท้อนความรู้สึกของคนรุ่นใหม่หลายส่วนที่รู้สึกว่าประเทศนี้มีปัญหาแต่ไม่มีทางออกในสภาวะที่รู้สึกไม่มีทางออกพวกเขามองไม่เห็นโอกาสที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ข้อเรียกร้องเรื่องเสรีภาพหรือข้อเรียกร้องอะไรที่เป็นความเห็นต่างผู้เรียกร้องก็จะถูกจับกุมในภาวะแบบนี้ผมเชื่อว่าผู้เห็นต่างโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หลายๆส่วนคงออกอาการที่รู้สึกว่าอยากมีประเทศที่ดีกว่านี้

นัยยะของคำว่าย้ายประเทศอาจไม่ได้มีความหมายถึงโอกาสที่จะย้ายจริงๆแต่คงสะท้อนความรู้สึกเชิงอารมณ์ทางการเมืองว่าอยากเห็นประเทศไทยดีกว่าภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนที่คนในสังคมมีอารมณ์ร่วมต่อเรื่องนี้มากเชื่อว่ามาจากปัญหาโควิดซึ่งเป็นปัจจัยที่เข้ามาทำให้ภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นเห็นชัดเจน

ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมาหลายเรื่องอาจอยู่ใต้พรมหรืออาจเป็นเรื่องที่เราไม่ได้พูดกันมากในสังคมไทย

แต่พอโควิดระบาดหนักปัญหาความเหลื่อมล้ำถูกสะท้อนออกมารุนแรงมากขึ้นทั้งที่จริงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นเรื่องที่พูดกันมานานพอสมควรแต่ไม่ได้รับความสนใจจริงจัง

แต่พอโควิดระบาดตั้งแต่ปี 2563 การระบาดระลอก 2 และ 3 เราจะเห็นถึงความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะระลอก 3 ความเหลื่อมล้ำถูกสะท้อนจากปัญหาวัคซีน

ปัญหาการเข้าถึงการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมทั้งปัญหาอื่นๆ สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ย่อมเป็นฝ่ายที่รู้สึกว่าเสียเปรียบ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความยุติธรรมทางกฎหมายที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงปัญหาใหญ่ของภาพสะท้อนการย้ายประเทศรวมไปถึงความยุติธรรมทางกฎหมายความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียมกันในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นแต่ที่ผ่านมาถูกละเลย

ตัวเร่งที่ใหญ่ที่สุดคือความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากปัญหาการกระจายวัคซีนกระทั่งเราเห็นปรากฏการณ์ทัวร์วัคซีนที่ราคาค่อนข้างสูงผมไม่ได้ต้องการต่อว่าคนที่ยอมเสียเงินไปฉีดวัคซีนแต่เป็นภาพสะท้อนปัญหาที่คนระดับกลางและระดับล่างไม่สามารถทำได้ขณะที่คนมีฐานะรู้สึกว่ามีทางออกที่จะหาวัคซีนในปัจจุบัน

ทั้งหมดสรุปได้ว่า โจทย์ย้ายประเทศเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาล

กระแสการย้ายประเทศยังมองได้ถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปัจจุบันที่ถูกโยงไปสู่การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตหมายความว่าเมื่อโควิดระบาดทั้งนักเรียนนิสิตนักศึกษาไม่สามารถไปโรงเรียนได้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องคิดไม่เช่นนั้นระบบการศึกษาจะไปต่อไม่ได้

เราจะเห็นปัญหาลักษณะนี้ในต่างจังหวัด รวมถึงในกทม. ก็ยังพบปัญหาบางพื้นที่ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าโควิดทำให้เราได้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้นยิ่งทำให้คนรู้สึกว่าอยากเห็นการบริหารประเทศที่ดีกว่านี้

ผมจึงเชื่อว่าคำย้ายประเทศไม่ได้หมายความว่าพวกเขาอยากทิ้งประเทศไทยแต่เขาอยากเห็นประเทศไทยที่ดีกว่าปัจจุบัน

ถ้าคนรุ่นใหม่ต้องการย้ายไปอยู่ต่างประเทศอย่างจริงจังคงตอบไม่ได้ว่าจะทำให้เกิดภาวะสมองไหลหรือไม่แต่เราเห็นตัวอย่างกรณีของฮ่องกงที่ปัจจุบันนักศึกษาฮ่องกงย้ายประเทศจริงๆหลังรัฐบาลจีนเข้ามาใช้นโยบายที่เป็นอำนาจนิยมมากขึ้น

ผมคิดว่ากรณีของไทยเป็นการสะท้อนอารมณ์ทางการเมืองของคนในสังคม ดังนั้น ภาครัฐหรือบรรดาผู้มีอำนาจในสังคมไทยระดับต่างๆ จะเข้าใจอารมณ์ตรงนี้มากน้อยเพียงใดเป็นความท้าทายที่ต้องเฝ้าดู

วีระศักดิ์เครือเทพ

รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

หากมองในปรากฏการณ์ของมนุษย์เป็นเรื่องปกติที่มีมานานแต่คราวนี้มีกระแสขึ้นมาคงมีหลายปัจจัยประกอบกันไม่ว่าจะเรื่องการบริหารงานของรัฐบาลที่อาจไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้แต่อีกหลายๆชุดที่เริ่มทำให้ปัญหาของสังคมไทยถูกเปิดออกซึ่งปัญหาเหล่านั้นไม่ได้รับการแก้ไขเสียทีไม่ว่าจะกี่รัฐบาล

เช่น การจัดการเรื่องเศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เลือกปฏิบัติ การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ หลายสิบปีที่ผ่านมาคนจำนวนหนึ่งไม่เห็นโอกาสว่าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นได้อย่างไร กระแสย้ายประเทศนี้จึงเกิดจากความกดดัน สิ้นหวังในการบริหารงานของรัฐบาลในรอบหลายปีที่ผ่านมา

อีกทั้งยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่ชัดเจนว่าในอนาคตจะดีขึ้นกว่านี้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการวางยุทธศาสตร์ชาติหรือทิศทางเรื่องอื่นๆ ภัยพิบัติลักษณะอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่โควิด-19

คนเหล่านี้ไม่ได้มองแค่ประเทศไทย แต่เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านด้วยสถานการณ์แบบเดียวกันว่าประเทศอื่นบริหารจัดการอย่างไร ได้ผลลัพธ์อย่างไร จึงเริ่มรู้สึกว่าหากอยู่อย่างนี้ต่อไปก็เหมือนด้อยลงไปเรื่อยๆ

มองภาพรวมคิดว่าเป็นการประชดประชันมากกว่าจะเป็นจริงเป็นจังเพื่อสะกิดต่อมชนชั้นนำว่าทำอะไรก็ให้ระมัดระวังมองผู้คนบ้างเพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่จะอพยพอยู่แล้ว

แต่กระแสครั้งนี้จะจุดประกายให้คนแห่ย้ายประเทศหรือไม่ ก็คงไม่ง่าย มองระยะสั้นสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถอพยพได้ ระยะไกล 3-10 ปีก็ไม่ได้ง่ายนักเช่นกันเพราะจะมีสักกี่คนที่มีความพร้อมมีโอกาสและมีศักยภาพ

คิดว่าอาจเป็นกระแสช่วงสั้นๆ เท่านั้น และไม่ค่อยกังวล กับกระแสแตกตื่นนี้มากนักแต่สิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่าคือสิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองแบบหนึ่งว่าประชาชนเริ่มทนไม่ไหวกับระบบหรือผู้นำที่เป็นอยู่โดยไม่มีทางเลือกอื่นให้พวกเขาเลย

จะอาศัยกลไกต่างๆทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญส่วนตัวก็รู้สึกว่ามันเริ่มสิ้นหวังแล้วและเห็นภาพมากขึ้นเรื่อยๆว่ากลไกนี้ใช้ไม่ได้องค์อิสระก็ใช้ไม่ได้ศาลรัฐธรรมนูญก็เริ่มหมดความหวังจึงเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่มองว่ามีน้ำหนักมาก

ทฤษฎีต่างประเทศเรียกว่า Voice and Exist คือโวยวายก่อนเมื่อทำอะไรไม่ได้แล้วก็ย้ายดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวนว่ากระแสย้ายประเทศนั้นพวกเขาไม่พอใจเรื่องอะไรบ้างแล้วนำมาแก้ไขแม้รัฐบาลอาจคิดว่าแค่ประชดแต่ก็ไม่ควรมองข้าม

ผมไม่กังวลเรื่องสมองไหลเพราะคนที่มีความสามารถเขาไปอยู่แล้วแม้ไม่มีกระแสแต่ประเด็นที่มีน้ำหนักเช่นความเหลื่อมล้ำการไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจความเสื่อมถอยของการบริหารจัดการรัฐบาลต้องไม่มองข้ามในฐานะผู้ปกครองที่บอกว่าจะดูแลประชาชนทุกกลุ่มและต้องลงมือทำจริงๆไม่ใช่แค่พูด

กระแสย้ายประเทศอาจเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง แต่เนื้อหาที่คนกลุ่มนี้ไม่พอใจเป็นโจทย์ทางการเมืองที่สำคัญ

ไม่มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษที่ทำให้คนมีอารมณ์ร่วมกับกระแสการย้ายประเทศได้ขนาดนี้เพราะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเห็นอยู่แล้วว่ามันสิ้นหวังคนจำนวนหนึ่งอาจคิดว่าเมื่อโควิดผ่านไปแล้วคงดีขึ้นเองแต่คนอีกจำนวนหนึ่งไม่อยากรอแล้วจึงเปิดประเด็นใหม่ทางสังคมให้ลองมาดูว่าใครจะไปที่ไหนอย่างไรได้บ้าง

กระแสย้ายประเทศมาในเวลาที่เหมาะเจาะจึงจุดกระแสสังคมได้ แต่เชื่อว่าไม่เกิดผลในทางปฏิบัติมากนัก แต่ประเด็นที่กังวลคือหากรัฐบาลเพิกเฉย ในทางการเมืองจะมีผลต่อว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหา ก็จะเป็นระเบิดเวลาของรัฐบาลเองถ้าหากรัฐบาลไม่ทำอะไร

สมชัยศรีสุทธิยากร

ผอ.ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต

เป็นความรู้สึกของเด็กรุ่นใหม่ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มนักเรียนมัธยมนักศึกษามหาวิทยาลัยไปถึงกลุ่มคนวัยทำงานต้นๆหมายถึงวันอนาคตของชาติ

สาเหตุของกระแสนี้ ประเด็นหลักสุดคือ การบริหารจัดการโควิด-19 ซึ่งเขารู้สึกว่ารัฐบาลยังทำได้ไม่ดีและมองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองทั้งนั้น

2. ท่าทีของฝ่ายบริหารหรือผู้ปกครองประเทศ ทุกครั้งที่แสดงออกต่อสาธารณะมีท่าทีไม่เคารพคนในประเทศ ทำตามใจตัวเอง พร้อมใช้คำพูดที่ดูเหมือนดูถูก เหยียดหยามประชาชน 3. เรื่องเศรษฐกิจ การมีรายได้ 4. ความไม่เป็นธรรมในสังคม และ 5. เรื่องการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เรื่องทำมาหากินเป็นเรื่องรองจากความรู้สึกคับข้องใจ เป็นความรู้สึกที่เขาเห็นการบริหารบ้านเมือง เห็นท่าทีของผู้ใหญ่ เห็นการตัดสินใจของคนที่มีอำนาจในบ้านเมืองแล้วรับไม่ได้ ซึ่งคงเป็นบ้านเมืองที่ไม่ค่อยน่าอยู่สักเท่าไร

เนื้อหาที่คุยกันในเพจเป็นเรื่องที่แตกมาจากประเด็นย้ายประเทศซึ่งไม่ได้เป็นการคุยกันเล่นๆหรือแค่ความฝันที่อยากไปแต่ไปเพื่อประกอบอาชีพอย่างจริงจังการตั้งคำถามและการตอบในกลุ่มย่อยๆสะท้อนว่าพวกเขาเอาจริงเอาจังมากมีการให้คำแนะนำต่างๆจากผู้รู้และผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆมาแล้ว

คนที่แสดงความไม่พอใจหรือมองว่ากลุ่มนี้ทำไปเพราะประชดประชันหรือแค่คุยกันเล่นๆนั้นถ้ามีโอกาสอยากให้เข้าไปอ่านรายละเอียดต่างๆว่าพวกเขาพูดคุยกันอย่างไรบ้าง

ตามจริงแล้วไม่น่าเชื่อว่าคนในเพจ 7-8 แสนคนจะมีโอกาสได้ไปทั้งหมดเพราะไม่ง่ายที่จะไปตั้งรกรากไปทำงานไปเรียนหนังสือต่างประเทศแต่สิ่งที่จะสะท้อนคือคนเกือบล้านคนในประเทศที่รู้สึกอยากย้ายประเทศ

จึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองบ้านเมืองควรให้ความสำคัญหรือสนใจได้แล้วว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนเกือบล้านคนซึ่งเป็นวัยหนุ่มสาวมีความคิดแบบนี้และไม่ควรใช้ท่าทีที่ประชดประชันเขาหรือไปถามว่ามีปัญญาไปหรือเพราะเท่ากับขาดความเข้าใจเด็ก

ถ้าผู้ปกครองประเทศมองด้วยท่าทีเช่นนี้เป็นการมองปัญหาที่ผิดจุดควรหันกลับไปมองว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เด็กคิดแบบนี้การห้ามปรามคงพูดได้ยากแล้วเพียงแต่อย่าไปแสดงท่าทีที่ผลักไสไล่ส่ง

ยิ่งท่าทีของกระทรวงดิจิทัลฯ ไปพูดว่า ให้เพจระวังตัวดีๆ จะมีการแจ้งดำเนินคดียิ่งไปกันใหญ่แล้ว การทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เขารักชาติมากขึ้นเลย แต่จะทำให้เขาเกลียดผู้บริหารมากขึ้น และไม่อยากอยู่ในประเทศมากขึ้น ดังนั้นต้องระวังท่าทีของฝ่ายบริหารด้วย

จากจำนวนคนที่เข้าร่วม 7-8 แสนคน ถ้าได้ไปสัก 10 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ถือว่าน้อย หรือถ้ามีสัก 1 เปอร์เซ็นต์ที่ได้ไปแปลว่าคนที่ได้ไปมีคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมอาจเรียกได้ว่าเป็นสมองของประเทศ

คนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศจะไม่สนใจที่จะอยู่ในประเทศอีกต่อไปเรื่องนี้น่าเป็นห่วง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน