บทบรรณาธิการ – ความมั่นใจในวัคซีน

ท่าทีของรัฐบาลล่าสุดเห็นตรงกับฝ่ายอื่นๆ แล้วว่า วัคซีนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการรับมือโรคระบาดโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงมีแผนการทำงาน 3 แนวทางเผยแพร่ออกมา

เริ่มจากเพิ่มจำนวนโดสวัคซีนที่จะใช้ในประเทศ จาก 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดส โดยสั่งทุกหน่วยงานทำงานเชิงรุกมากขึ้น ทั้งเจรจาและพิจารณาเพิ่มยี่ห้อวัคซีน

สุดท้ายคือเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ให้ได้จำนวนมากที่สุด

แต่ระหว่างการนำสามแนวทางมาสู่ การปฏิบัติ โดยเฉพาะข้อสามที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง เกิดบรรยากาศประชาชนไม่เชื่อมั่นและสับสนทางข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน

ประเด็นหลักๆ ที่ผู้คนพูดกันทั่วไปคือประสิทธิผลของวัคซีน 2 ยี่ห้อที่ไทยมีอยู่ ได้แก่ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า รวมถึงผล กระทบจากการฉีดวัคซีนของทั้งสองชนิด

ตอนแรกรัฐบาลแจ้งว่า กลุ่มอายุเกิน 60 ปี จะได้ฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ชนิดเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีฉีดไปแล้ว

ต่อมาแจ้งเปลี่ยนเป็นวัคซีนซิโนแวคให้กลุ่ม ผู้สูงวัย เนื่องจากต้องรีบใช้ในเขตชุมชนที่มีการระบาดมาก และขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า พร้อมอ้างอิงข้อมูลศึกษาวิจัยของจีน ว่า ซิโนแวคใช้ฉีดในคนอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ด้วย

แต่วัคซีนของจีนที่เพิ่งได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก กลับเป็นวัคซีนของซิโนฟาร์ม

การเข้ารับการฉีดวัคซีนจึงกลายเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่มีทางเลือก

สิ่งสำคัญในการเป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยคือการรับฟังว่าประชาชนคิดอย่างไร มีเรื่องเดือดร้อนทั้งกายใจอย่างไร มีคำแนะนำอย่างไร

แม้ว่าช่วงเวลาตึงเครียด ความเห็นจำนวนมากสะท้อนถึงความไม่พอใจ อึดอึดกลัดกลุ้ม แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องพยายามทำความเข้าใจไปทีละประเด็นอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

เพราะการสั่งการทุกครั้งของรัฐบาลประชาธิปไตย ควรกลั่นกรองมาจากความเห็นของประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการสื่อสารสองทาง ไม่ใช่เพียงจากบนลงล่าง

หากโพสต์ของผู้นำประเทศเกี่ยวกับ 3 แนวทางจัดการวัคซีน ต้องถูกปิดการแสดงความเห็น ความคับข้องใจนี้คงไม่บรรเทาลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน