ข่าวปลอม-วัคซีน – ความไม่มั่นใจรวมไปถึงความหวาดกลัวของประชาชนเรื่องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถูกรัฐบาลตีความว่ามาจากข่าวปลอม หรือ เฟกนิวส์

หากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลควรรู้ด้วยว่าการจัดการ กับข่าวปลอมได้ดีที่สุดคือ ข้อเท็จจริง ข้อมูลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และประสบการณ์ตรงจากผู้ฉีดวัคซีน 2 ชนิดที่ประเทศไทยมีอยู่ตอนนี้

มิใช่มุ่งฟ้องร้องสื่อที่รายงานข่าวผิดพลาด หรือเข้าใจผิด หวังปราบปรามผู้ปล่อยข่าวปลอมให้เป็นเยี่ยงอย่าง

เพราะปัญหาขณะนี้คือมีข่าวผสมปนเปกันระหว่างผู้แพ้วัคซีนจริงกับข่าวปลอมที่มีคนกุขึ้นในโซเชี่ยลมีเดีย

หนทางแก้ไขจึงต้องแยกข่าวจริง ออกจากข่าวปลอม และให้รายละเอียดอย่างตรงไปตรงมาเพื่อสร้างความเข้าใจ

ผู้ที่สร้างความเชื่อถือและความเชื่อมั่น ในเรื่องวัคซีนได้ดีที่สุดอยู่ในกลุ่มแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญและวิจัยวัคซีน

รัฐบาลต้องอาศัยคนเหล่านี้อธิบายข้อมูลหรือข่าวที่เผยแพร่ออกมาทุกวัน โดยเฉพาะข่าวการแพ้ วัคซีนที่ประชาชนสนใจเป็นพิเศษ

ที่มาของความสนใจดังกล่าวต้องยอมรับว่าเกี่ยวข้องกับชนิดวัคซีนที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก

หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องของไทยควรอธิบายให้ชัดว่า เหตุใดจึงอนุมัติให้ใช้วัคซีนชนิดนี้ ในไทย พร้อมแสดงข้อมูลสถิติและรายละเอียด ที่ชัดเจน ไม่ใช่เพียงระบุว่าประเทศอื่นๆ ใช้กันแล้วจบ

หากประชาชนรู้เท่าทันข่าว จะช่วยแก้ไข ปัญหาการแชร์ข่าวปลอมได้ดีกว่า

ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องทบทวนการทำงานด้วยว่ามีส่วนทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่น ในวัคซีนด้วยหรือไม่

การใช้ท่าทีเสียงแข็ง ยืนกรานว่าประชาชนไม่มีสิทธิเลือกชนิดวัคซีนทั้งไม่มีคำอธิบายให้คลายความกังวล ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่น

หากรัฐบาลเปิดเผยผลการตรวจสอบในห้องแล็บว่าวัคซีนที่ฉีดไปแล้วมีประสิทธิผลอย่างไร มีเปอร์เซ็นต์การแพ้เท่าใด และมีมาตรการดูแล ผู้เกิดอาการแพ้อย่างไร

ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ประชาชนมีความ มั่นใจมากขึ้น และเห็นถึงความจำเป็น ที่ต้องฉีดวัคซีนด้วยตนเอง มากกว่ารู้สึกว่า ถูกบีบบังคับให้ต้องฉีด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน