คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เศรษฐกิจ 7 ปี : มีตัวเลขเศรษฐกิจสร้างความตื่นเต้นในช่วงวาระครบรอบ 7 ปีรัฐประหาร ว่าด้วยการขาดทุนสะสมของธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่า 1.069 ล้านล้านบาท

ยิ่งเมื่อเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติอธิบายข้อมูลให้ประชาชนคลายความตื่นตระหนก ภาพที่ได้มาแทนสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ตัวเลข 1.069 ล้านล้านบาทเป็นผลการขาดทุนสะสมที่เกิดขึ้นหลายปีไม่ใช่ของปี 2564 เพียงปีเดียว

ตัวเลขนี้กำลังจะบอกอะไร เป็นความปกติที่อาจเกิดกำไรและขาดทุน เป็นธุรกรรมที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารกลาง

หรือเป็นความเศร้าทางเศรษฐกิจตลอด 7 ปีนับจากเหตุการณ์รัฐประหาร

คําอธิบายที่ชัดเจนคือหนี้สินในงบการเงินของแบงก์ชาติ ไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ

แต่หากดูหนี้สาธารณะแล้ว คำอธิบายนี้คงไม่ลบหรือบรรเทาความเศร้าทางเศรษฐกิจได้มากเท่าใดนัก

ข้อมูลหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือนมีนาคม 2564 ของประเทศไทย อยู่ที่ 8.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54.28 ของจีดีพี

ขณะที่เพดานของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่รัฐบาลต้องคงสัดส่วนไว้ให้ได้คือให้ไม่เกินร้อยละ 60

มูลค่าหนี้ดังกล่าวยังเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ชะงักงันไปทุกส่วน ไม่ว่าค้าขาย ก่อสร้าง ลงทุน วิจัย ฯลฯ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด

กระทรวงพาณิชย์แสดงตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ เริ่มฟื้นตัว

เดือนมีนาคม 2564 การส่งออกไทยมีมูลค่า 24,222 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวถึงร้อยละ 8.47 หากไม่นับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย อัตราจะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 12

แต่ภาคบริการและการท่องเที่ยวที่มีการจ้างงานคนในประเทศจำนวนมาก ยังต้องรอโอกาสฟื้นตัวอีกพักใหญ่มาก เนื่องจากการบริหารจัดการวัคซีนของไทยยังไปไม่ถึงจุดที่พร้อมหรือได้เปรียบกว่าประเทศอื่น

หมายความว่าเศรษฐกิจของประชาชนทั่วไป และผู้มีรายได้น้อยจะต้องฝืดเคืองต่อไป รัฐต้องกู้เงินอีก 7 แสนล้านบาทเพื่อนำมารับมือกับสถานการณ์นี้

ด้วยความกังขาว่ารัฐบาลมีฝีมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริงหรือ หากดู ผลงาน 7 ปีมานี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน