กระจายอำนาจวัคซีน – กระบวนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะเป็นทั้งโอกาสและบทพิสูจน์สำหรับการบริหารราชการ ว่าถึงขณะนี้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของประเทศไทยเป็นอย่างไร

การกระจายอำนาจเป็นส่วนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

เสียงประชาชนจะสะท้อนสู่เจ้าหน้าที่รัฐได้ มากน้อยเพียงใด และเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการ จะตอบรับหรือแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านรวดเร็ว เพียงใด ล้วนต้องอาศัยการกระจายอำนาจที่มีประสิทธิภาพ

แต่ระบบราชการของไทย โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารมักจะรวมศูนย์ รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ด้วยข้ออ้างด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย

แม้ขณะนี้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 2 ปี การกระจายอำนาจยังคงต้องพัฒนา อีกมาก

สถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดทำให้หน่วยงานท้องถิ่นต้องมีบทบาทมากขึ้นในการควบคุมพื้นที่ของตนเอง

เนื่องจากลักษณะของการระบาด รวมถึงคลัสเตอร์แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน การควบคุมเชื้อกับกลุ่มเป้าหมายจึงต่างกันในรายละเอียด

คนที่อยู่ในพื้นที่ย่อมรู้ดีที่สุดว่าจะฉีดวัคซีนกับคนกลุ่มใดก่อนหลัง จะบริหารจัดการหาจัดซื้อวัคซีนอย่างไรให้คุ้มค่า บรรเทาหรือแก้ปัญหาได้ตรงจุด

ณ วันนี้ข้อบังคับที่ชัดเจนของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออปท. มีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่

แต่อปท.จะซื้อวัคซีนได้จากหน่วยงานในประเทศที่ศบค.กำหนดไว้เท่านั้น

หน่วยงานที่ศบค.กำหนดให้อปท.ขอซื้อได้ ได้แก่ กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจ

ดังนั้น กระบวนการจัดหาวัคซีนของแต่ละจังหวัดจึงยังต้องพึ่งพาการตัดสินใจของส่วนกลางอยู่อย่างเข้มงวด

เมื่อต้องผ่านขั้นตอนทางราชการสิ่งที่จะเผชิญคือกฎระเบียบหลักเกณฑ์ที่อาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน

หากรัฐบาลสนับสนุนการกระจาย อำนาจให้ท้องถิ่นจริง ต้องเปิดทางให้ส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการเข้าถึงวัคซีนมากกว่าที่เป็นอยู่นี้และโดยเท่าเทียมกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน