คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 8 เดือน คิดเป็นร้อยละ 44.7 เป็นการสำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564

เช่นเดียวกับผลสำรวจของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ช่วงเวลาเดียวกันปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ช่วงเวลาดังกล่าวเชื้อโควิด-19 ระบาดหนัก และรัฐบาลหวนใช้มาตรการคุมเข้ม

แม้ไม่ได้ใช้คำว่าล็อกดาวน์ไว้ แต่มีผลต่อการทำมาหากินของประชาชนทั่วไปอย่างหนักมาตลอดเดือนเมษายน และยังส่งผลต่อเนื่องมายังเดือนมิถุนายน

ผลการสำรวจดังกล่าวพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกตัวปรับตัวลดลงทุกรายการ

ดัชนีความเชื่อมั่นจากการสำรวจของหอการค้า ตัวที่ต่ำที่สุดคือ ตัวเศรษฐกิจโดยรวม เหลือร้อยละ 38.9

ตามมาด้วยโอกาสหางานทำ เหลือน้อยมากเช่นกันที่ร้อยละ 41.3 และรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 53.9

สาเหตุหลักมาจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง บวกกับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้า

ทั้งหมดส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนักและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ตาม

แม้สถาบันผู้สำรวจคาดว่า ช่วงเดือนมิถุนายนปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่มีการปูพรมฉีดวัคซีนต้านโควิดกันทั่วประเทศ

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าปริมาณวัคซีนมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน หลังจากเริ่มการฉีดวัคซีนวงกว้าง

อีกทั้งยังมีคำประกาศที่กลับไปกลับมาระหว่างได้วัคซีนแล้ว กับยังไม่ได้วัคซีนเพียงพอ การกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ยังไม่ทั่วถึง ล้วนเป็นเรื่องที่กระทบต่อความเชื่อมั่น

ดังนั้นการที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่หดหายไป นอกจากเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์แล้ว รัฐบาลต้องทบทวนด้วยว่าฝ่ายการเมืองไม่แสดงให้เห็นถึงการเป็นที่พึ่งในการแก้หรือบรรเทาปัญหาลงใช่หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน