จับตาการเมือง-สู่โหมดแก้รธน. : รายงานพิเศษ

จับตาการเมือง-สู่โหมดแก้รธน. – รัฐสภาเตรียมถกญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีทั้งร่างของพรรคพลังประชารัฐ, 8 ร่างของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล และ 4 ร่างของฝ่ายค้าน

แต่ยังไม่ทันพิจารณา ส.ว.ก็ประกาศกร้าว จะคว่ำทุกร่างที่ไปแตะต้องอำนาจของวุฒิสภา

จนเกิดคำถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปต่ออย่างไร หรือแค่เรื่องปาหี่ของรัฐบาล

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

การที่ส.ว.ประกาศคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอให้ลดอำนาจตัวเอง เห็นได้ชัดเจนว่ามีความประสงค์อย่างน้อย 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นความชัดเจนคือต้องการรักษาอำนาจของตัวเอง ซึ่งคืออำนาจของส.ว.ไว้อย่างชัดเจน ในด้านที่ 2 ส.ว.กำลังคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้และรัฐบาลนี้จะเป็นตัวค้ำยันสถานการณ์ปัจจุบันให้มันดำเนินไปได้

ซึ่งจุดประสงค์ทั้ง 2 อย่าง โดยเฉพาะจุดประสงค์หลัง ที่ต้องการรักษาสถานะแบบมีกลุ่มอำนาจกลุ่มหนึ่ง หรือเรียกว่าคณาธิปไตยกลุ่มหนึ่ง ครองอำนาจ ไม่ว่าจะในนามคนดี ประเสริฐเลิศศรีอย่างไรก็แล้วแต่ มันเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น การประกาศคว่ำร่างแก้ไขไม่ว่าร่างใดที่เสนอลดอำนาจของส.ว.นั้น ก็เชื่อว่าคงจะออกเสียงคว่ำจริง มันจะทำให้เกิดความตึงเครียดในสังคมมากขึ้น โดยกลุ่ม ส.ว.เอง ก็คิดว่าเขาไม่แคร์ใคร

ความตึงเครียดนี้จะนำไปสู่อะไรบ้าง คิดว่าการเคลื่อนไหวเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะแรงมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีการดึงอำนาจ ส.ว.ทั้งหมดกลับมา ยกเลิกส.ว. เพราะสังคมไทยเริ่มเห็นแล้วว่า ไม่รู้จะมีส.ว.ไว้ทำไม ถ้าหากยังมีไว้เพื่อยันในสิ่งที่มันไม่ค่อยได้เรื่อง เหลวไหล

และถ้าไม่แก้เรื่องอำนาจส.ว. ยุบสภารัฐบาลเก่าก็กลับมา

ส่วนจะมีทางออกอื่นอีกหรือไม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างใหม่ทั้งฉบับต้องใช้ระยะเวลานานนั้น ดูเหมือนว่าเรามีทางเลือกน้อยลง

จะทำอย่างไรให้ขั้นตอนของการนำไปสู่รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยส.ส.ร.เร็วขึ้น ซึ่งมีระเบียบกำหนดว่ากี่วัน กี่เดือน ซึ่งลำบากต่อการไปเร่งรัด อย่างไรก็ตาม นั่นคือทางออกที่ดีที่สุด

และช่วงนี้เราคงไม่สามารถเรียกร้องให้ ส.ว.มีจริยธรรมต่อสังคม แต่คงต้องเรียกร้องว่าต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชน ไม่ใช่จะจงรักภักดีแต่กับคนที่แต่งตั้งคุณ อาจต้องเรียกร้องส.ว.ให้คิดกันหน่อย

ทางออกมันเหลือน้อยลง ยิ่งส.ว.ออกมาประกาศแบบนี้ยิ่งทำให้สังคมรู้สึกว่าทางออกมันเหลือน้อย ความอึดอัดมันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนที่ว่าหากพ.ร.บ.ประชามติ ผ่าน มีผลบังคับใช้แล้ว การเลือกทำประชามติสอบถามประชาชนในประเด็นอำนาจส.ว.นั้นสามารถทำได้ แต่จะส่งผลไปสู่การเปลี่ยนอะไรในส.ว.หรือไม่ ก็ไม่มั่นใจ

ส่วนตัวคิดว่าแม้กระทั่งรัฐบาลและชนชั้นนำเอง เขาก็ยังอยากจะคงส.ว.แบบที่เป็นฝักถั่วให้คงอยู่ เพราะเขาไม่พยายามเข้าใจความเปลี่ยนแปลง หรือหลับตามองข้ามความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงประเทศไทย

การที่ฝ่ายค้านมองว่าการปิดสวิตช์ส.ว. เป็นก้าวแรกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อส.ว.ประกาศเช่นนี้ ส่วนตัวก็มองว่าประตูช่องนี้ปิดแล้ว ฝ่ายค้านและสังคมก็ต้องหาประตูบานอื่นๆ ต่อไป

สิ่งที่ส.ว.ทำ และตั้งแต่กระบวนการแรกที่เริ่มต้นคิดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ มาสู่การปิดตรงนี้ก็คือ ส.ว.กำลังทำให้สิ่งที่คนลงแรงไป คิดไป มันกลายเป็นเรื่องปาหี่ อยากใช้คำว่า ส.ว.กำลังตบหน้าสังคม คุณตบหน้าสังคมโดยที่คุณไม่รู้ว่ามันแย่ที่คุณทำแบบนี้

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์ แห่งม.เกษตรศาสตร์

การที่ส.ว.ประกาศคว่ำร่างที่ตัดอำนาจวุฒิสภา คิดว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน เพราะเป็นร่างที่ไม่ปิดสวิตช์ส.ว. จะได้กติกาการเลือกตั้งแบบที่พรรคพลังประชารัฐต้องการ แบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ต้องการแบบไหนก็จะได้แบบนั้น

ที่ส.ว.ออกมาพูดก็ชัดเจนดี ว่าจะไม่ลงมติรับร่างที่ปิดอำนาจตัวเอง ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก็จะเป็นแบบที่พรรคพลังประชารัฐต้องการทั้งหมด ตอนนี้ยุทธศาสตร์ของการสืบทอดอำนาจ จะทำให้เราอยู่กับประชาธิปไตยแบบลวงๆ แบบนี้ต่อไป ถ้าไม่เอาแบบนี้ก็ได้การรัฐประหาร ทางเลือกเขามีให้แค่นี้

ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญตามกลไกของประชาธิปไตย วันนี้เราได้คำตอบจาก ส.ว.แล้วว่าคงไม่มีทาง วันนี้เจตนา คงอยากให้สังคมไทยอยู่กับประชาธิปไตยแบบลวงๆ แบบนี้ เพราะอย่างน้อยก็ไม่ขัดหูขัดตาชาวโลก เพราะรัฐบาลแบบคสช. อยู่ในสังคมโลกไม่ได้ แต่แบบนี้ทำให้เขาพอมีที่ยืนในสังคมได้ ถ้าไม่เอาแบบนี้ก็เลือกเอาระหว่างรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม กระบวนการต่อสู้ของภาคประชาชนก็ต้องเหนียวแน่นต่อเนื่องเช่นกัน แต่ในช่วง 5 ปีแรก ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีทางสำเร็จ การปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่มีทางปิดได้ ต่อให้ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ส.ว.ก็ยังมีคนอื่นอีกจำนวนมากที่พร้อมเป็นนายกฯ แบบพล.อ.ประยุทธ์

และถ้าวันนี้พรรคเพื่อไทยกล้าหือกับส.ว.จริง เชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยจะต้องมีความกล้าหาญมากกว่านี้ จึงเป็นสัญญาณว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐกำลังประนีประนอมกัน หลังการเลือกตั้งการรวมตัวกันตั้งรัฐบาล 2 พรรค ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับเพื่อไทย ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้

ที่พูดเพราะดูจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่ยังขาดความกล้าหาญ เพราะเขารู้ตัวว่าหากเป็นฝ่ายค้านต่อไปก็ลำบาก แต่ถ้าจะเป็นพรรครัฐบาลก็จะต้องเอาส.ว.เป็นพวก

ความคาดหวังต่อร่างพ.ร.บ.ประชามติ หากออกมาก็จะเป็นอีกทางออก ที่อาจทำให้กระบวนการต่อสู้เรื่องนี้มีความต่อเนื่อง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่สำเร็จ ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่สนับสนุนหรือส่งเสริมแนวทางนี้ เพราะเชื่อว่าการต่อสู้โดยประชาชนต้องสืบเนื่อง และต่อสู้ทุกช่องทาง

การต่อสู้เรื่องประชามติเป็นเรื่องที่สมควรทำและจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ต้องยอมรับว่าอีกฝ่ายเขาต้องสู้เรื่องนี้เหมือนกัน โดยที่เขามีเครื่องมืออยู่มากที่จะต่อสู้

แต่ถึงอย่างไร ก็เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ถึงทางตัน เพียงแต่การแก้ไข ส.ว.ก็บอกว่าจะแก้ตามพรรคพลังประชารัฐ การแก้ไขจะออกมาในรูปแบบของการสืบทอดอำนาจของคสช.เหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม อยากฝากว่าการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้คือการต่อสู้ในเรื่องของหลักคิด ซึ่งจะสร้างประโยชน์ที่ ยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้า ผู้รักประชาธิปไตยมีหน้าที่ต้อง ขับเคลื่อนการต่อสู้เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อวันที่ดีกว่าของคนรุ่นต่อไป

พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.

การแก้รัฐธรรมนูญจะแก้ได้หรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการเมือง เหมือนเมื่อครั้งที่คณะราษฎรออกมาชุมนุมอย่างหนักแน่น หลังจากนั้นก็มีส.ว.บางคนออกมาประกาศว่าจะยอมตามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร เช่น การยอมให้ปิดสวิตช์ส.ว.

แต่พอเหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไป การชุมนุมอ่อนแรงลง ฝ่ายรัฐบาลคงประเมินแล้วว่าถึงอย่างไรก็ไล่เขาออกไม่ได้ ทางส.ว.ก็เปลี่ยนทางกันไปหมด ดังนั้น การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปต่อได้หรือไม่อยู่ที่เงื่อนทางการเมืองว่าจะบีบเขาได้มากน้อยแค่ไหน

ถ้ากดดันได้ก็เป็นความจำเป็นที่รัฐบาลต้องยอม ก็จะพอแก้ไขได้ แต่เงื่อนไขแบบนั้นยังไม่มี เชื่อว่าพวกส.ว.ทั้งหลายก็คงไม่ยอม เช่นเดียวกับที่ส.ว.บางคนออกมาบอกว่าถ้าส.ว.ไม่ยอมก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่งนั้นก็เป็นเรื่องจริง

เพราะมีการล็อกไว้สองล็อก คือวาระที่ 1 ต้องใช้เสียง 1 ใน 3 พอผ่านมาสู่วาระที่ 2 เขาไม่พอใจ ก็จะไม่ลงมติในวาระที่ 3 ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไปไม่รอดแล้ว ตราบใดที่ยังไม่สามารถสร้างกระแสทางการเมืองที่จะกดดัน ส.ว.เหมือนการชุมนุมทุกครั้งของคณะราษฎรได้ โอกาสจะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ไม่มีทางเป็นไปได้

การเลือกทำประชามติเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเป็นทางออกของเรื่องนี้ การต่อสู้ก็จะไปอยู่ที่การผ่านหรือไม่ผ่านร่างพ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งครั้งที่แล้วรัฐบาลกับส.ว.อาจผิดพลาด ส่งผลให้การแปรญัติของกมธ.เสียงข้างน้อย เป็นฝ่ายชนะ ในประเด็นเปิดช่องว่าการขอทำประชามติ ประชาชนสามารถเข้าชื่อกันเสนอได้

แต่อย่าลืมว่า ตราบใดที่รัฐบาลไม่ขอให้ทำก็จะทำไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นอำนาจคณะรัฐมนตรี ก็ต้องย้อนถามว่าครม.ชุดนี้เขาจะขอให้ทำเพื่ออะไร เพราะตอนนี้เขาเองก็มีอำนาจอยู่แล้ว

ดังนั้น ถ้าพ.ร.บ.ประชามติผ่านมาได้ตามที่กมธ.ข้างน้อยแก้ไข ก็มีโอกาสจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่ก็ต้องมาหวังต่ออีกว่าเสียงประชามติต้องชนะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีอีกล็อก เพราะกำหนดประชาชนต้องใช้สิทธิ์ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ก็น่าเป็นห่วงล็อกนี้ เพราะรัฐบาลอยู่ในฐานะจะทำอย่างไรก็ได้ให้คนมาลงไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น อย่าไปเสนอเลยพ.ร.บ.ประชามติตัวนี้ แต่ให้เสนอแยกต่างหากเหมือนครั้งทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 50 และไม่มีเงื่อนไขในส่วน 50 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ร่างของพลังประชารัฐ รวมถึง 3 พรรคร่วมรัฐบาลเองก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้ได้มากน้อยเพียงใด หากฝ่ายค้านอยากจะแก้บางจุด เช่นกรณีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เรื่องนี้พรรคฝ่ายค้านอาจเป็นเหยื่อก็ได้ และคนที่วางกับดักไว้คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

อีกทั้ง ฝ่ายค้านก็ยังเห็นไม่เหมือนกัน แค่เรื่องบัตร 2 ใบ เพื่อไทยเอาอย่างหนึ่ง ก้าวไกลเอาแบบจัดสรรปันส่วนผสมแต่เป็นบัตร 2 ใบ ซึ่งแตกต่างจากบัตร 2 ใบในรัฐธรรมนูญ 40 แนวทางตรงนี้ก็แตกต่างกันแล้ว เมื่อฝ่ายค้านเสียงไม่เป็นเอกภาพแล้วจะสู้เขาได้อย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน