คอลัมน์ ใบตองแห้ง

ประยุทธ์ ประวิตร รีบบอกปัด ไม่รู้ไม่เห็นร่างแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 144, 185 ของพรรคพลังประชารัฐ หลัง ส.ว.แห่ค้าน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นล่าชื่อต้าน หมอวรงค์ยังซัด “เหิมเกริมในอำนาจ”

มาตรา 144 เป็นบทบัญญัติที่ กรธ.มีชัยคุยโว “รัฐธรรมนูญปราบโกง” ห้าม ส.ส. ส.ว.แปรญัตติงบประมาณ เพราะกลัวจะตามไปทึ้งงบ ซ้ำรอยอดีต ส.ส.เพื่อไทยที่โดน ป.ป.ช.สั่งฟ้องฐานแปรญัตติสร้างสนามฟุตซอล คือวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลนั่นไง

มาตรานี้ทำให้กรรมาธิการแปรญัตติไม่ได้เลย เช่นจะตัดงบซื้ออาวุธโยกไปให้ สธ.ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ก็ไม่ได้ กลัวโกงไปหมด ตัดงบแล้วต้องเข้างบกลาง ตีเช็คเปล่าให้นายกฯ หัวหน้าพรรคก้าวไกลอภิปรายให้เอางบไปทำโครงการที่เป็นประโยชน์ ก็โดนเรืองไกรขู่ ขัดรัฐธรรมนูญ

มันก็แค่ยาแรงที่วางไว้เล่นงานเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แต่กลายเป็นพรรคพลังประชารัฐ ที่ดูดสารพัด ส.ส.แล้วกลับมาแก้ “รธน.ปราบโกง” โดยไม่ยักแก้ข้อห้ามแปรญัตติ แค่ตัดบทลงโทษ แล้วก็ไปแก้ 185 ข้อห้าม ส.ส.มีส่วนใช้งบ จึงถูกมองว่าเจตนาใช้งบหาเสียงนี่หว่า

ตลกกว่านั้น คนเสนอร่างคือไพบูลย์ นิติตะวัน “คนดี” น้อมนำพระพุทธเจ้า ที่ต้องกลับลำ ขอให้รับไปก่อนแล้วแก้กลับมาเหมือนเดิมภายหลัง

พูดกันจริงๆ มาตรา 144 ไม่ใช่ยาวิเศษ ใครโกงก็ว่าเป็นรายๆ ไม่ใช่มัดมือมัดเท้าฝ่ายนิติบัญญัติจนแปรญัตติไม่ได้ ส.ส.รัฐบาลอยากได้งบลงพื้นที่ ก็ยังวิ่งเต้นขอรัฐมนตรีได้

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า “การเมืองคนดี” ที่เคยหนุนรัฐประหาร 2 ครั้งเพราะมองนักการเมืองชั่ว ทักษิณเลว กำลังตีกลับ รับไม่ได้กับการดูดกวาด “นักการเมืองยี้” ในสายตาคนชั้นกลางในเมือง มารองมือรองตีนสืบทอดอำนาจ

ทีแรกๆ ยังทำใจยอมรับ เพราะคิดว่าประยุทธ์จะควบคุมนักการเมืองได้แบบเปรม แต่ยิ่งมายิ่งหนัก กระทั่ง “แป้ง” เป็นเลขาธิการพรรค พรรคร่วมรัฐบาลประมูลรถไฟทางคู่

โลกออนไลน์ดราม่าเสาไฟกินรี รู้ไหมนายกเทศมนตรีเคยโดน ม.44 สั่งแขวนเมื่อปี 58 แต่ได้ตำแหน่งกลับเมื่อปี 61 จากนั้นปี 62 ก็ส่งลูกชายลง ส.ส.พลังประชารัฐ

นึกภาพพันธมิตรปี 49 วาดฝันว่ากำจัด “ระบอบทักษิณ” แล้วประเทศไทยจะใสสะอาด ถนนปูด้วยทองคำ ป่านนี้ถ้าไม่ตีอกชกหัวก็เปลี่ยนเป็นพวกคลั่งเชียร์ประยุทธ์ไม่ลืมหูลืมตา

“การเมืองคนดี” “การเมืองศีลธรรม” ว่าที่จริงก็เป็นแรงผลักดันอีกด้านทำให้เกิดม็อบคนรุ่นใหม่ นอกเหนือจากความไม่พอใจที่ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ มองไม่เห็นอนาคตในประเทศที่ปกครองโดย ผนง. และรัฐราชการล้าหลัง

มีคนบอกว่า ม็อบสามนิ้วจำนวนไม่น้อยเป็น “ลูกสลิ่ม” ที่จริงคือลูกคนชั้นกลางในเมือง ที่พ่อแม่สอนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม ชูแบบอย่าง “รูปเคารพ” เกลียดนักการเมืองเลว เกลียดทุนสามานย์

แต่สิ่งที่เขาเห็นกับตา มันไม่ใช่นี่หว่า คนรุ่นใหม่เฮเลือกอนาคตใหม่ พรรคที่หาเสียงแนวใหม่ใสสะอาด เต็มไปด้วย ส.ส.หนุ่มสาวมีความสามารถ ที่ไหนได้ ถูกตัดด้วยสูตรเศษมนุษย์ ถูกยุบพรรค ถูกไอ้กุ๊ยดูด ส.ส. แล้วนักการเมืองยี้ที่พ่อแม่เคยด่าให้ฟัง ก็ยืนหลังประยุทธ์เต็มไปหมด

ไม่ได้บอกว่าคิดแบบนี้ถูกหมด เพราะสภาพเป็นจริงของการเมืองไทยไม่สามารถปฏิเสธระบบอุปถัมภ์ ส.ส.ต้องเอาโครงการลงพื้นที่ ส.ส.ต้องไปงานศพงานบวช ฯลฯ (ก้าวหน้าก้าวไกลจึงแพ้บ้านใหญ่ ซึ่งตอบสนองความต้องการประชาชนในพื้นที่ได้มากกว่า)

แต่รัฐประหาร 2 ครั้ง เครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยมปลุก “พลังศีลธรรม” “การเมืองคนดี” เกลียดนักการเมืองระบบอุปถัมภ์ ขึ้นมาทำลายอำนาจจากเลือกตั้ง ทำลายประชาธิปไตย ผูกขาดอำนาจโดยอ้างตนเป็นคนดีย์ จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งให้การเมืองใสสะอาด

ที่ไหนได้ ก็ไปกวาดนักการเมืองมาเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ มิหนำซ้ำ พรรคพลังประชารัฐยุคธรรมนัสผงาด ก็ประกาศจะเป็นไทยรักไทย 2 เลือกตั้งครั้งหน้าเป็นรัฐบาลพรรคเดียว

พูดตามการเมืองที่เป็นจริง ธรรมนัสเป็นคนเก่ง มีความสามารถ นักประสานสิบทิศ กระทั่ง #saveบางกลอย ก็ไปช่วยเจรจา เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นเลขาธิการพรรค แต่ด้วยภาพลักษณ์ มันเท่ากับพลังประชารัฐไม่สนกระแสคนชั้นกลางในเมืองหรือ “การเมืองศีลธรรม” อะไรเลย

ความเสื่อมทางศีลธรรม ตั้งแต่บนลงล่าง กำลังทำลายเครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยม ซึ่งไม่มีฐานความชอบธรรมได้แต่อ้าง “คนดี” แต่ตอนนี้กระทั่ง “การเมืองคนดี” ที่เคยหนุนรัฐประหารก็ร้องยี้ ไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางใจ ซ้ำร้ายยังล้มเหลวในการจัดการโควิดจัดหาวัคซีน คนตายเพิ่มทุกวัน

“วัคซีนมีน้อยกว่าเส้น” “ซิโนแวคประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันการนำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่น” นี่สะท้อนความไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อว่าโปร่งใส

การเมืองช่วงนี้จึงเป็น “สองนคราประชาธิปไตย” ย้อนกลับ ทั้งคนชั้นกลางในเมืองรุ่นใหม่ที่เรียกร้องเสรีภาพประชาธิปไตย ทั้งคนชั้นกลางเก่าที่เคยเชื่อ “การเมืองคนดี” ไล่ทักษิณ ต่างก็หันมาไล่ตู่โดยไม่ต้องนัดหมาย

คงเหลือแต่เครือข่ายอำนาจกับสลิ่มกลุ่มไลน์ ที่ยังกอดขาประยุทธ์ไม่เปลี่ยนแปร

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน