รายงานการเมือง : โควิดรอบ4-แผนรับมือของรัฐบาล?

โควิดรอบ4-แผนรับมือของรัฐบาล? : ยอดผู้ป่วยและเสียชีวิต สะท้อนว่าสถานการณ์ โควิดรวดเร็วและรุนแรงขึ้น

ตรงข้ามกับการรับมือของรัฐบาลที่ถูกวิจารณ์ว่าล่าช้า สะเปะสะปะ ไม่ศึกษาจากบทเรียนในอดีต

กลายเป็นข้อบกพร่องที่นำไปสู่การระบาดระลอก 4

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข

ตัวเลขผู้ติดเชื้อทุกวันนี้น้อยกว่าความเป็นจริง จะเห็นว่าผลบวกของตัวอย่างที่ตรวจบางพื้นที่ 10% ขึ้น ผิดปกติมาก เพราะเขตสุขภาพในกทม. พบผู้ติดเชื้อต่ำ 3-4% แต่เขต 13 กทม. และเขตปริมณฑลรอบๆ แถว จ.เพชรบุรี และ จ.ชลบุรี ผลบวกสูงมาก

หมายความว่าการตรวจเชิงรุกน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หากตรวจมากกว่านี้โดยเฉพาะในกทม.และปริมณฑล อาจพบผู้ติดเชื้อมากถึง 7,000-8,000 รายต่อวัน

ขณะที่สายพันธุ์เดลตาแพร่ได้มากกว่าถึง 40% เพราะปัญหาจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสไม่มี คนไม่สงสัยว่าติดจึงแพร่กระจายในครอบครัวได้ง่าย ดังนั้นผู้ป่วยในชุมชนมีแน่นอนและกำลังระบาดไปเรื่อยๆ

และเราต้องเข้าสู่ระยะที่ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนต้องมาโรงพยาบาลสนาม ต้องกักตัวที่บ้านหรือในชุมชน ดังนั้นวันนี้ต้องตรวจให้เยอะที่สุด เอาคนอาการน้อยที่ครองเตียงในโรงพยาบาลสนามมาอยู่บ้าน ให้โรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยสีเหลือง ส่วนผู้ป่วยหนักๆ สีแดงอยู่ในโรงพยาบาล

เรื่องวัคซีนวันนี้เรามีความรู้ขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังใช้แต่ ซิโนแวค ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าป้องกันการติดเชื้อได้น้อยกว่ายี่ห้ออื่น ป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์ยิ่งน้อยลงอีก หากต้องการควบคุมการระบาด ต้องใช้วัคซีนที่ป้องกัน การติด หยุดซื้อซิโนแวคไปซื้อโมเดอร์นาหรือไฟเซอร์ หรือ โนวาแวกซ์ ต้องรีบสั่งมาฉีดซ้ำให้บุคลากรด่านหน้า

กรณีโมเดอร์นาที่ต้องรอเอกชนทำคำขอองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ก่อนส่งอัยการสูงสุดอนุมัติ รอทำ สัญญาส.ค. มันนานไป หากรัฐให้อภ.ซื้อไฟเซอร์และ โมเดอร์นา เหมือนซิโนแวคก็ทำได้อยู่แล้ว

ผู้นำที่จะสู้กับวิกฤตได้ต้องเข้าใจวิกฤต หากไม่เข้าใจวิกฤตต้องเลือกใช้คนให้เป็น เลือกใช้คนผิด ฟังความเห็นผิดจะเข้ารกเข้าพง การควบคุมโรคต้องฟังนักระบาดวิทยา ซึ่งไม่มีอยู่ใกล้ตัว ผอ.ศบค.เลย ช่วงไข้หวัดนกและซาร์สนักระบาดวิทยามีส่วนสำคัญมากที่จะบอกว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างไร

การมี ศบค. ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นว่าจะช่วยให้การจัดการดีขึ้น เพราะรวบอำนาจอยู่ภายใต้ข้าราชการ ซึ่งฟังประชาชนน้อยกว่ารัฐมนตรีที่เป็นนักการเมือง ยิ่ง ผอ.ศบค.ไม่ฟังใคร ข้าราชการไม่กล้าโต้แย้ง จึงเข้ารกเข้าพง เราไม่ได้ผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูล หรือทักท้วงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ การมองภาพรวมก็ไม่มีใครช่วยคิดให้จบ

วันนี้ไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดหนักแค่ไหนเพราะตรวจไม่จริง ประเมินเบื้องต้นวันนี้หากไม่ทำอะไรมันจะหนักโดยเฉพาะในกทม. ปริมณฑล และจังหวัดภาคกลางโซนรอบอ่าวไทย

ระบบสาธารณสุขทั้งระบบยังไม่ล่ม แต่ในพื้นที่สีแดงเข้มมันรับมือไม่ไหวแล้ว ทางแก้คือผู้ป่วยไม่หนักให้ อยู่บ้าน สกัดกั้นโรคให้เร็วเพื่อให้ไอซียูรองรับได้ เพิ่มไอซียูได้ก็ควรเพิ่ม แล้วดึงหมอจากต่างจังหวัดมาช่วย

หากเพิ่มไอซียูไม่ได้ต้องเริ่มคิดว่าจะให้ผู้ป่วยหนักที่ยังไม่ได้เข้าไอซียูไปอยู่บางจังหวัด เช่น นครราชสีมา สระบุรี ซึ่งมีศักยภาพรองรับได้ แต่ควรเป็นแผนสอง

ถ้าการเมืองวันนี้เป็นปกติ นายกฯ ต้องลาออกแล้ว ถ้า ไม่ออกก็ต้องยุบสภา ให้ประชาชนเลือกผู้นำคนใหม่เข้ามา แก้โควิด เพราะโควิดไม่ไปจากเราง่ายๆ แน่ แม้จัดการได้ ดีกว่า จะควบคุมได้อาจไปถึงปลายปี เมื่อจัดการไม่ดียิ่งเรื่องใหญ่มาก

ผมไม่อยากเห็นไทยเป็นอย่างชิลี อินเดีย ที่หนักจนรับมือไม่ได้แล้ว ตอนนั้นแค่ลาออกหรือยุบสภา ผู้นำใหม่ก็จะเจอภารกิจที่หนักหน่วงมาก

เดชรัต สุขกำเนิด

คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

การทำงานของศบค. ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ไม่ว่ามิติใด โดยเฉพาะการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างและร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมาก ไม่มีการชี้แจงการควบคุมโรคว่าตรวจแล้วเจออย่างไร ที่ปิดไปติดโรคทุกแคมป์จริงหรือไม่ แล้วแคมป์ที่ไม่ติดจะใช้ชีวิตอย่างไร ผลของการปิดจะเป็นอย่างไรต่อ

การช่วยเหลือเยียวยาก็ไม่ได้ตอบโจทย์ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก โดยเฉพาะกรณีร้านอาหาร ยังมีลูกจ้างจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และจะใช้ระยะยาวคงลำบาก เพราะการก่อสร้างปิดยาวอาจเป็นปัญหาและเป็นอันตราย หรือมีต้นทุนเพิ่มขึ้นรวมไปถึงค่าเสียโอกาสต่อเงินลงทุน

ตัวเลขผู้ป่วยที่พุ่งสูงนั้น เพราะการแพร่ระบาดไม่ได้อยู่เฉพาะในพื้นที่ ไม่เหมือนที่สมุทรสาครในระลอกสอง ดังนั้นตัวเลขรวมคงเป็นหลักพันไปตลอดก.ค. ก็จะแปลว่าเราจะกลับมาเปิดร้านอาหาร เปิดแคมป์คนงานไม่ได้หรือไม่

ภาพรวมคิดว่ารัฐบาลไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่ตัวเองต้องการจะทำได้ชัดเจนนอกจากออกคำสั่ง สั่งคุมคนงานแล้วจะทำอะไรต่อ ตรวจเจอแล้วทำอย่างไร ตรวจไม่เจอแล้วทำอย่างไร และร้านอาหารที่ปิดเกินหนึ่งเดือนก็มีปัญหาสภาพคล่อง อาจกลับมาได้ลำบาก

การที่แรงงานกระจายตัวกลับต่างจังหวัดก็ไม่รู้ว่าไปจุดใด ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่ห่างไกลเจอการติดเชื้อระบาดรุนแรงจะยิ่งแก้ ยากกว่ากทม. เป็นความผิดพลาดที่รัฐบาลไม่ได้วางแผนไว้ตั้งแต่ต้น ทั้งที่ได้เห็นบทเรียนตั้งแต่สงกรานต์ที่ผ่านมาที่ส่งการแพร่ระบาดออกไป

เห็นด้วยว่าตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจะพุ่งสูงมากช่วง 2 สัปดาห์ แต่จะหนักแค่ไหนคาดเดาไม่ได้ เนื่องจากอิทธิฤทธิ์ของสายพันธุ์เดลตาเร็วและแรงกว่าเดิม แต่ไม่รู้ว่าขนาดไหน

ตัวแปรสำคัญในอนาคตและอยากให้มีการรายงานมากกว่านี้คือจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยไอซียูต้องจำแนกเป็น รายจังหวัดหรือโรงพยาบาล เพื่อให้ทราบสถานการณ์ว่าไปกระจุกตัวอยู่ที่ไหน อย่างในกทม.ตัวเลขผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อสัปดาห์ก่อนอยู่ประมาณ 1,600 สัปดาห์นี้ เกิน 2,000 แล้ว ทำให้เห็นว่าผู้ป่วยอาการหนัก 400 คนภายในหนึ่งสัปดาห์ น่าจะเป็นตัวเลขที่สำคัญ

รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุดทั้งแง่เศรษฐกิจและการเมือง ตอนนี้มี 2-3 เรื่องที่ต้องรีบแก้ไข กรณีแคมป์คนงานและร้าน อาหารควรรีบเช็กให้ชัวร์แล้วรีบคืนสภาพให้กรณีไม่ใช่จุดเสี่ยง อีกปัญหาที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการชัดเจนคือการติดเชื้อในครัวเรือนจะแก้ไขอย่างไร จุดนี้จะเกี่ยวพันกับการกระจายตัว

ถ้าถามว่ารัฐบาลนี้มีความสามารถหรือ ผมไว้ใจว่ารัฐบาลหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ายาก เพราะมี 3 อย่างที่ควรพิจารณา อย่างแรกคือความสามารถในการสื่อสาร ในสถานการณ์ที่เราอยู่บนความไม่แน่นอนการสื่อสารมีความสำคัญมากแต่รัฐบาลนี้ สอบตก โดยเฉพาะตอนที่ประกาศว่าจะไม่ล็อกดาวน์แล้วมาล็อกดาวน์

อันที่สองคือแผนดำเนินการที่กล่าวไปข้างต้น ล็อกดาวน์แล้วอย่างไรต่อ แล้วจะให้คืนกลับมาเมื่อมีสัญญาณอย่างไร แต่ ไม่บอกอะไรจึงกลายเป็นปัญหา

ตัวที่สามคือการแสดงความรับผิดชอบที่ทั้งรัฐบาลไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบตลอดช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา อย่างเช่นการสั่งซื้อวัคซีน คงจะเป็นที่ยอมรับได้แล้วว่ามีข้อผิดพลาด แต่ก็ไม่มีใครรับผิดชอบต่อการวางแผนที่ผิดพลาดนั้น

เมื่อรัฐบาลไม่เคยแสดงออกถึงความรับผิดชอบใด ประชาชนก็คงคิดว่าจะไว้วางใจได้ยาก รัฐบาลควรจะพิจารณาตัวเองแล้วให้ผู้อื่นมาบริหารในสถานการณ์นี้

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ประธานชมรมแพทย์ชนบท

หากถามโควิดที่รุนแรงขึ้นวันนี้ต้นเหตุเพราะมาตรการที่ผิดพลาดของศบค.หรือไม่ ส่วนตัวไม่ได้สนใจมาตรการ ศบค.แล้ว เพราะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอด และมาตรการที่ผิดพลาดมากคือการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง

สั่งปิดโดยไม่มีมาตรการเยียวยา และการสื่อสารที่ทันท่วงที ถ้าคนงานเป็นคนไทยก็กลับบ้านต่างจังหวัดเพราะกลัวไม่มีกิน แต่ถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติก็ไปหาที่อยู่ใหม่ เพราะต้องหาเงินเลี้ยงปากท้อง มาตรการนี้จึงทำให้การแพร่เชื้อกระจายมากกว่าเดิม

สาเหตุที่ยอดป่วยตายสูงขึ้นอาจเพราะวัคซีนฉีดได้ต่ำ ไม่ครอบคลุมพอ ซึ่งเกี่ยวข้องระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เนื่องจากคุณภาพของวัคซีนอย่างซิโนแวค แม้คุณภาพต่ำแต่มีประสิทธิภาพเชิงบรรเทาการเจ็บป่วยหนักได้ ป้องกันการติดเชื้อได้ระดับหนึ่ง

ส่วนตัวมองว่ายอดติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นหลักๆ มาจากการระบาดที่มีจำนวนมากและเป็นไปอย่างกว้างขวาง และคุมได้ยากเนื่องจากเป็นการระบาดในครอบครัว สำนักงาน รวมทั้งที่โรงเรียน โรงงาน ทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ที่มีการประเมินว่าอีก 2 สัปดาห์ ยอดป่วยตายจะเพิ่มขึ้นนั้นถูกต้อง เพราะผู้ป่วยวันนี้สะท้อนจำนวนผู้เสียชีวิตที่จะเกิดขึ้น วันนี้ป่วย 5 พันคน เมื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงก็เจอผู้สัมผัสเสี่ยงเพิ่มขึ้น ยอดผู้ป่วยก็เพิ่ม ลามไปเรื่อยถ้าไม่มีมาตรการที่ชัดๆ จะไม่ลดลง

อีก 2 สัปดาห์ยอดเสียชีวิตก็เพิ่ม เพราะวันนี้เริ่มป่วย จากนั้นป่วยหนัก ผ่านไปเข้าไอซียูและเสียชีวิต เมื่อวันนี้ยอดป่วยเพิ่ม ยอดผู้เสียชีวิตในอีก 2 สัปดาห์ก็เพิ่ม

มาตรการแก้ไขระยะสั้น จะล็อกดาวน์ก็ยากแล้ว เพราะสถานการณ์วันนี้เป็นการติดเชื้อในครัวเรือน การล็อกดาวน์จึงเกิดประโยชน์น้อย จะล็อกจากในบ้านหรือระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ชาวบ้านก็ยังต้องพบปะกัน

ดังนั้น มาตรการระยะสั้นต้องประคองสถานการณ์ ควบคุมโรคให้ได้ คนป่วยทุกวันนี้พยายามดูแลตัวเองอยู่แล้ว แต่การกักตัวเองในข้อจำกัดเรื่องสภาพสังคม เพราะบ้านหลังเล็ก ต้องนอนรวมกัน หรืออาศัยอยู่ในชุมชนแออัด

วิธีตรวจแล้วหาให้เจอ จากนั้นกักตัว รักษา ซึ่งเป็นวิธีโบราณช่วยลดการระบาดได้ ยุติการระบาดในทันทีไม่ได้ แต่หวังว่าการระบาดจะไม่เร็วและมากเกินไปจนถึงขั้นห้องไอซียูรับไม่ไหว เตียงคนไข้ไม่พอ ระบบสาธารณสุขไม่ล่ม

ส่วนในระยะยาว ต้องอาศัยวัคซีนอย่างเดียว คนจะมีเสื้อเกราะได้ต้องมีวัคซีน

รัฐบาลมีบทเรียนเป็นปีแต่ที่ยังแก้ไม่ถูกจุดนั้น แน่นอนเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาด ขณะที่การแก้ปัญหาระยะสั้นเป็นแบบมวยวัด สะเปะสะปะ ประกาศแล้วเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วประกาศใหม่ มั่ว วนไปวนมา การประกาศล็อกดาวน์ต้องเตรียมการให้ดี ประกาศแล้วต้องมีข้าวกิน

เรื่องโควิดส่งผลต่อรัฐบาลแน่นอน เครดิตรัฐบาลลดลงทุกวัน รัฐบาลอาจอยู่จนครบวาระก็ได้ แต่โอกาสกลับมาหลังเลือกตั้งน่าจะไม่มาก

อยากแนะนำว่า หัวใจของเรื่องนี้คือวัคซีน ซึ่งใช้ต้นทุนต่ำที่สุด เหนื่อยน้อยสุด รัฐบาลต้องหาวัคซีนให้ได้ อธิบายกับสังคมให้มากว่าทำไมหาไม่ได้ ถ้าอธิบายได้ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์จะเข้าใจ

แต่ปัจจุบันเพียงบอกว่า จะมาๆ จะมีๆ ให้ความหวังแต่ก็ไม่ได้ พูดแบบนี้หลายครั้งก็กลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ไม่มีใครเชื่อ ก็เลยด่ารัฐบาลทั้งที่ไม่ได้อยากด่าแต่เขาไม่มีวิธีอื่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน