หนี้สองด้าน
: คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

 

หนี้สองด้าน : คอลัมน์ บทบรรณาธิการ – ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สูงลิ่วในช่วงเวลานี้ และน่าจะมีผลกระทบต่อไปอีกยาวนาน คือ จำนวนหนี้สินของประชาชนที่ติดค้างอยู่กับธนาคารแห่งต่างๆ

เฉพาะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจกแจง ระบุเฉพาะจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน ข้อมูล ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2564 ว่ามีจำนวน 5 ล้านบัญชี เป็นมูลหนี้สูงถึง 3.29 ล้านล้านบาท

ส่วนลูกหนี้ในกลุ่มนอกระบบน่าจะมีจำนวนอีกมาก ทั้งรายบุคคล และยอดหนี้รวม หากประเมินจากข้อมูลที่ ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายปัญหาในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

โครงการเยียวยาต่างๆ ของภาครัฐอาจดูเล็กน้อยลงไปอีก เมื่อเทียบกับจำนวนหนี้สินที่มีมหาศาล

แม้ธปท. เพิ่งประกาศใช้มาตรการเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2564

ระบุว่ามุ่งรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อย รวมถึงสนับสนุนการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน

แต่คำถามในระยะต่อไปสำหรับการบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ตอบคือ รัฐจะจัดเก็บรายได้มาอย่างไร ทางใดบ้าง

แผนเปิดประเทศภายใน 120 วันจะเดินหน้าอย่างไรในเมื่อหลายประเทศขึ้นบัญชีให้ไทย อยู่ในกลุ่มที่มีการระบาดสูง และต้องใช้มาตรการคุมเข้มด้วย

ส่วนการส่งออก แม้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากเศรษฐกิจภายนอกที่ฟื้นตัว แต่การสร้างผลทางบวกต่อเศรษฐกิจของคน ตัวเล็กตัวน้อยยังมีจำกัด

เมื่อมองเพิ่มถึงสถานการณ์การเมืองหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้รัฐบาลและผู้นำอยู่รอดต่อไปได้ แต่รายละเอียดของคะแนนลงมติ กลายเป็นข้อสังเกตว่า การเกาะกลุ่มของพรรครัฐบาล ไม่เหมือนเดิม และอาจเป็นเงื่อนไขให้มีการเปลี่ยนแปลง

ส่วนการชุมนุมประท้วงของมวลชนที่ไม่พอใจรัฐบาลยังเดินหน้าต่อ เพราะกลไกทางการเมือง ยังไม่พัฒนาในแนวทางยกระดับประชาธิปไตย นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2557

ขณะนี้หนี้สินทางเศรษฐกิจและหนี้สินทางการเมืองมีแต่จะพอกพูน จนน่าสงสัยว่ารัฐบาลจะแบกรับไปได้อีกนานเพียงใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน