มุมมองนักวิชาการ-ปมนายกฯ8ปี
: รายงานการเมือง

 

มุมมองนักวิชาการ-ปมนายกฯ8ปี : รายงานการเมือง – กลายเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง ถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดว่านายกฯจะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้

แต่จะเริ่มนับการดำรงตำแหน่งจากช่วงเวลาใด มีมุมมองของนักวิชาการ

 

  • รุจน์ วศินปิยมงคล
    คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

มี 3 มุมมองที่หลายฝ่ายยังถกเถียงกัน ทั้งที่ให้เริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 ที่รัฐประหารแล้ว พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ ซึ่งจะสิ้นสุดปี 65 หรือเริ่มนับเม.ย.2560 ที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะไปสิ้นสุดปี 68 และการเริ่มนับตั้งแต่มิ.ย.62 ที่โปรดเกล้าฯนายกฯครั้งที่สอง ก็จะไปสิ้นสุดที่ปี 70

การเริ่มนับปี 62 ไม่ควรนำมาเป็นชอยส์ ตัดมุมมองนี้ออกไปได้เลย ส่วนอีกสองแง่มุมนั้นเป็นไปได้ที่จะ ถกกัน

เรื่องนี้มองได้หลายมุมจริงๆ และสามารถเทียบไปได้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 คือนายกฯไม่ควรอยู่ในอำนาจนาน ถ้ามองแบบนี้ก็เท่ากับว่าไม่ว่าใครจะเป็นนายกฯ หรือมาจากไหนจะจากช่องทางการเลือกตั้ง หรือการรัฐประหาร ก็ไม่ควรอยู่เกิน 8 ปี

อีกทั้งการมองในมุมที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่ามาเป็นนายกฯจะผลักดันเรื่องการปฏิรูปการเมือง ดังนั้น จริงๆ แล้วสิ่งที่ต้องทำคือไม่ควรอยู่ในอำนาจนาน ดังนั้นควรนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 แล้วมาเป็นนายกฯ

ส่วนใจความมาตรา 158 วรรคสี่ ถ้ามองตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญก็ตรงไปตรงมา เพียงแต่ตีความเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญกันอย่างไร ถ้าตีความเพื่อปฏิรูปการเมือง ต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีเป้าหมายเดียวกันคือปฏิรูปการเมือง อย่างนั้นจำเป็นต้องนับตั้งแต่รัฐประหารปี 57

แต่ถ้ามองในมุมประชาธิปไตย อาจเริ่มตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2560 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยและเป็นระบบใหม่ ก็สามารถนับจากตอนนี้ได้เช่นกัน แต่ไม่ควรนับตั้งแต่ปี 2562

แต่ถ้ามองไปถึงเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตอน เข้ามาเอง และรัฐธรรมนูญนี้ก็มาจากเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย ฉะนั้นหากซีเรียสเรื่องปฏิรูปการเมืองก็ควรเริ่มนับตั้งแต่ปี 2557

อีกทั้งมาตรา 158 ต้องคิดเขาต้องการสื่ออะไร อย่างเรื่องเลือกตั้งเขาตั้งใจเขียนให้ดูงงๆ เพื่อจะได้ตีความ อำนาจก็จะอยู่กับผู้ตีความคือศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ควรดูทั้งรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เพราะตอนตีความเรื่องเลือกตั้งก็ได้พยายามตีความถึงเจตนารมณ์ของผู้เขียน

ถ้ามองแค่ในส่วนของรัฐธรรมนูญก็จะเริ่มนับตั้งแต่ปี 2560 แต่ถ้ามองในมุมที่มากกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คือต้องมองตั้งแต่ทหาร และพล.อ.ประยุทธ์ พยายามเข้ามาปฏิรูปการเมือง ถ้าอยากให้มุมมองนี้เป็นรูปธรรมจริงๆ ก็ควรเริ่มนับตั้งแต่ปี 2557

สุดท้ายก็จะชี้วัดว่าเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ คืออะไร อยากเข้ามาเพื่อปฏิรูปการเมือง มาทำเป็นตัวอย่าง หรือแค่อยากมาอยู่ในอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ต้องแสดงเจตนารมณ์ด้วยว่าที่สุดแล้วตัวเองต้องการหรือมีเป้าหมายคืออะไร ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความให้นับตั้งแต่ปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์สามารถลาออกได้ ซึ่งคือเจตนารมณ์ตั้งแต่แรกของการเข้ามาเป็นนายกฯ

ข้อยุติเรื่องนี้ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วนอกจากส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ และควรรีบตีความเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน

 

  • ยุทธพร อิสรชัย
    คณะรัฐศาสตร์ มสธ.

เรื่องเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนไม่ชัดเจน เวลานี้มีความเห็นออกมา 3 แนวทาง ถ้าตีความตามเจตนารมณ์หรือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ระบุชัดให้ครม.ที่อยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หมายความว่า ความเป็นรัฐมนตรีจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญคือ 6 เม.ย. 2560

มาตรา 264 รับรองสถานะรัฐมนตรีอย่างนี้ ก็หมายความว่าการจะใช้บทบัญญัติบังคับต่างๆ ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญคือปี 2560 และนับไปอีก 8 ปี

รัฐธรรมนูญเขียนชัดเจนว่าการนับไม่ว่าต่อเนื่อง หรือไม่ ต่อเนื่องจะรวมกันได้ 8 ปี น่าจะเป็นแนวทางในการวินิจฉัยได้ และไม่กระทบกระเทือนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือความมั่นคงทางหลักกฎหมาย รวมไปถึงข้อเท็จจริง

ส่วนกรณีให้นับย้อนไป ส.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯหลังรัฐประหาร พ.ค.2557 หมายความว่าอดีตนายกฯทั้งหมดทุกคนในประวัติศาสตร์ ถูกนับย้อนไปทั้งหมด จะกระทบหลักความมั่นคงทางกฎหมาย และข้อเท็จจริง

ส่วนที่ให้นับตั้งแต่การโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯปี 2562 เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2560 ช่วง 2 ปีที่หายไป ไม่มีค่าบังคับทางกฎหมายเลย ซึ่งกระทบความมั่นคงหลักกฏหมาย และในแง่ของข้อเท็จจริงเช่นกัน

เมื่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องการป้องกันการผูกขาดเรื่องอำนาจ ไม่ให้บุคคลใดก็ตามดำรงตำแหน่งนายกฯ เกินกว่า 8 ปี เพราะเกรงจะผูกขาดอำนาจทางการเมือง แต่ถ้ายึดปี 2562 ยิ่งเท่ากับว่าสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อเกิน 8 ปี

ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดน่าจะนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

ส่วนการยกมาตรา 158 และมาตรา 246 เพื่อรองรับว่านายกฯไม่สามารถอยู่เกิน ส.ค. 2565 คงมองแง่เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ต้องการให้ผูกขาดอำนาจทางการเมือง ที่กำหนดไว้ว่าบุคคลใดก็ตามจะเป็นนายกฯติดต่อกัน หรือไม่ติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีไม่ได้

ฝ่ายที่มองมุมนี้ก็ยึดเจตนารมณ์ตรงนี้และไปเทียบเคียงกับข้อเท็จจริงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งหลังรัฐประหาร 8 ปีจะครบในปี 2565 เพื่อไม่ให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ยาวเกินกว่าเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

แต่ตรงนี้จะเป็นปัญหา เพราะสิ่งที่บัญญัติในบทเฉพาะกาล มาตรา 264 บอกไว้ว่ารัฐมนตรีที่มีก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ถือเป็นครม.ที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญ จึงถูกตีความไปได้ถึงรัฐบาล หรือครม.ที่ผ่านมาในอดีตทั้งหมด ก็กระทบใน ข้อเท็จจริง แต่ฝ่ายที่ให้นับตั้งแต่ ส.ค.2557 คงหมายถึงรัฐบาลคสช.มากกว่า ดังนั้นขึ้นอยู่กับเจตนา

ปัญหาใหญ่คือรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนไม่ชัดเจน และยังเป็นรัฐธรรมนูญที่ยึดเอาปัญหามาร่างเป็นหลักการ เมื่อเอาปัญหามาร่างบทบัญญัติ ในข้อเท็จจริงคงทราบว่าเกิดขึ้นมาจากการป้องกันไม่ให้นายทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นนายกฯ เช่นเดียวกับกรณีการถือหุ้นสื่อ ก็เกิดมาจากเรื่องราวของนายทักษิณ

จึงนำปัญหามาสร้างหลักการ แต่ผลทางกฏหมายกระทบถึงความมั่นคงทั้งหมด หลักการจะตีรวนไปหมดเพราะไม่ได้วางหลักที่ถูกต้อง แต่นำเรื่องราวที่เป็นปมปัญหาทางการเมืองในบริบททางการเมืองเวลานั้นมาร่างเป็นกฎหมาย ขณะนี้ก็เกิดปัญหาให้เห็นแล้ว คือ กรณีนายกฯ 8 ปี รวมถึงหุ้นสื่อ ที่ ส.ส.เกือบครึ่งสภาได้รับผลกระทบและถูกดำเนินคดี

เจตนาคนร่างคงป้องกันไม่ให้บุคคลไหนก็ตามเป็นนายกฯ เกิน 8 ปี แต่เวลานั้นไม่ได้คิดถึงขั้นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ถึง 8 ปี คงต้องการป้องกันกรณีนายทักษิณ หากไม่มีการรัฐประหารอาจอยู่มากกว่า 8 ปี รวมทั้งคนอื่นที่ใกล้ชิดนายทักษิณก็จะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นครม. ทำให้ผู้ร่างหยิบปมปัญหาทางการเมืองมาใส่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ที่ผ่านมา สังคมไทยร่างรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนการสร้างกล่องแห่งความฝัน อยากแก้ปัญหาการเมือง อยากให้การเมืองและสังคมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็จะเอามาใส่กล่องนี้ แล้วสร้างรัฐธรรมนูญแต่ละยุคสมัยออกมา ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาเสมอ รวมถึงรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550

รัฐธรรมนูญ 2560 ยิ่งหนัก เพราะเกิดขึ้นจากฝันร้ายทางการเมืองในช่วง 10 ปีของความขัดแย้งในสังคมไทย พยายามควบคุม กำกับนักการเมือง พรรคการเมือง ตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ลืมไปว่าคนที่ยึดอำนาจในประวัติศาสตร์อยู่ยาวนานกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเกือบทั้งนั้น ผู้ร่างคงไม่ทันคิดและสุดท้ายสะดุดขาตัวเอง หรือกลายเป็นวัวพันหลัก

ทางออกที่น่าจะเป็นข้อยุติคือส่งศาลรัฐธรรมนูญ ช่วงใกล้ส.ค.2565 ที่จะครบวาระ ถ้ายื่นตอนนี้เชื่อว่าศาลคงไม่รับเพราะเหตุยังไม่เกิด แต่เชื่อว่าเลือกตั้งครั้งหน้าอาจไม่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือเป็นหัวหน้าพรรค หรืออาจวางมือ

  • วิโรจน์ อาลี
    รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ส่วนตัวมองว่าน่าจะต้องเริ่มนับจากวันที่ 9 มิ.ย. 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ต้องทำตามในช่วงเวลาที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ

กรณีหลายฝ่ายหยิบยกรัฐธรรมมนูญ มาตรา 158 และ มาตรา 264 ที่จะส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินส.ค. 2565 นั้น เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้

เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ต้องเชิญผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาแสดงถึงเจตจำนงของผู้ร่างฯ ซึ่งพยายามจะชี้ให้เห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คงต้องเป็นไปตามการตีความของผู้ร่าง

ดังนั้น การหาข้อยุติก็ต้องส่งตีความ ถ้าฝ่ายค้านเห็นว่าจำเป็นก็ยื่นตีความได้ ต้องดูตัวบทกฎหมายและเจตนารมณ์ของผู้ร่างเป็นหลัก ซึ่งแนวโน้มที่ว่าคือนายกฯน่าจะอยู่ต่ออีกยาว จนครบ 8 ปี นับตั้งแต่วันที่โปรดเกล้าฯ หลังจากที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 60 แล้ว

ในขณะที่นักรัฐศาสตร์จะมองถึงอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงปีหน้าว่าจะสั่นคลอนแค่ไหน ถ้ายังรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจของชนชั้นนำไว้ได้ เช่น สมมติว่าปลายปีนี้ยุบสภา ต้นปีหน้าเลือกตั้ง และกลับมาได้อีก ก็จะมีเหตุผลในทางรัฐศาสตร์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะอยู่ต่อไปได้

แต่ถ้าสมมติว่าสถานการณ์เลวร้ายมากก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่การเมือง ณ จังหวะเวลานั้น ถ้าชนชั้นนำรู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ก็เป็นไปได้สูงที่จะหยิบยกบางประเด็นขึ้นมาพิจารณาก็ได้

จำปัญหาตั้งแต่เรื่องการถวายสัตย์ได้หรือไม่ ที่ขาดบางช่วงบางตอน สิ่งเหล่านี้ก็จะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองได้ตลอด

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่กฎหมายว่าอย่างไร ประชาชนทั่วไปมองว่าอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับความต้องการของชนชั้นนำด้วยซึ่งมันชัดเจนมากในบ้านเรา ความต้องการของชนชั้นนำจะขับเคลื่อนการเข้ามา มีอยู่ และดำรงอยู่ในอำนาจของผู้นำทางการเมืองอยู่พอสมควร

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งเป็นนายกฯจนถึงส.ค.ปี 2565 หรือไม่นั้น คิดว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ เลือกได้คงอยากอยู่ในตำแหน่งถึงปีหน้า ซึ่งที่เขาทำทุกวันนี้ก็จะบอกว่าตัวเองทำตามตัวบทกฎหมาย แต่อยู่ในวงเล็บที่ว่าพวกคุณเขียนกฎหมายกันขึ้นมาเอง พวกเดียวกันเอง ถ้าเขาเลือกได้ก็คงอยากจะอยู่ต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาโควิด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสิ้นปีนี้ ตลอดจนรอยร้าวในพรรคพลังประชารัฐ ความนิยมในตัว นายกฯเอง ซึ่งจะมีผลต่อการขยับเขยื้อนของพรรคร่วมรัฐบาล

หรือถ้ามีสัญญาณเรื่องของการเลือกตั้งจะทำให้สถานการณ์เริ่มมีความไม่แน่นอนบ้าง แต่ตอนนี้ ยังดูเหมือนว่าปัจจัยยังคงอยู่ในสภาวะที่นายกฯ อยาก จะอยู่ในตำแหน่งต่อ อยู่ให้ครบ ตามจำนวน 4 ปี และ 8 ปี เสียด้วยซ้ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน