คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

น้ำมันแพง

ปัญหาน้ำมันแพงเป็นโจทย์ยากสำหรับรัฐบาลทุกยุค เพราะราคาน้ำมันเกิดจากปัจจัยภายนอกในตลาดโลก

ดังนั้นแต่ละรัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาไตร่ตรองและเลือกมาตรการที่ส่งผลกระทบทางลบต่อประชาชนส่วนใหญ่ให้มากที่สุด

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดนี้ รัฐบาลอธิบาย ตรงกับที่ประชาชนทั่วไปรับทราบแล้วว่ามาจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น

หลังสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัว

กรณีของไทย เป็นโจทย์ยากขึ้นอีกตรงที่ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง จึงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับสูงขึ้น

เบื้องต้นนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน มีมาตรการบรรเทาผลกระทบของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้วยการลดเงินจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนของ B7 จาก 1 บาท เหลือ 1 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 2564 เพื่อตรึงราคา

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ สำหรับการตรึงราคาน้ำมันแต่ละชนิด คิดเป็นมูลค่าการชดเชยตามมาตรการ 3,000 ล้านบาท จากสถานะเงินกองทุนที่มี 11,000 ล้านบาท

พร้อมยืนยันยังไม่มีนโยบายปรับลดภาษี สรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพราะยังไม่เห็นความจำเป็น

รัฐบาลชี้ว่าเมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่นๆ พบว่า ประเทศไทยไม่ได้ขายน้ำมันแพงที่สุดในโลก

เรื่องที่น่ากังวลสำหรับประชาชน น่าจะไม่ใช่ว่าประเทศไทยมีสถานะดีกว่าชาติอื่นๆ หรือไม่ แต่เป็นการรับรู้ปัญหาของรัฐบาลว่ามีความชัดเจน และลงลึกในรายละเอียดต่างๆ อย่างไร

โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันที่ครอบคลุมการผลิตในทุกกิจการ รวมถึงภาคการเกษตร

แม้รัฐบาลสั่งเร่งรัดทุกฝ่ายติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงสั่งให้กระทรวงพลังงานเตรียมมาตรการรับมือเพื่อบรรเทาผล กระทบต่อประชาชนอยู่เสมอ

แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือรัฐบาลได้รับข้อมูลที่ทันสถานการณ์ความเดือดร้อนของชาวบ้านอย่างไร รู้จริงรู้ลึกหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน