คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ทหารนำหมอ

คําสั่งนายกรัฐมนตรี จัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.สงขลา หรือเข้าใจกันโดยย่อว่า ศบค. ส่วนหน้าภาคใต้

พร้อมแต่งตั้ง พล.อ. อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ศบค.ส่วนหน้า โดยอ้างถึงความจำเป็นหยุดการแพร่ระบาดเชื้อโควิดในพื้นที่ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน ยังให้อำนาจหน้าที่ในการดึง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมทั้งจัดสรรงบประมาณลงไปสนับสนุนตามที่ได้รับการร้องขอ

เปรียบเหมือนใช้การทหารนำหน้าการสาธารณสุข

จากคำสั่งดังกล่าวกลายเป็นคำถาม และข้อวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว ทำไมต้องใช้การทหารนำการสาธารณสุข ทั้งที่เป็นเรื่องโรคระบาด เกี่ยวข้องกับสุขภาพประชาชน สมควรให้หน่วยงานที่มีความถนัดเฉพาะด้านขึ้นมานำการแก้ปัญหามากกว่าไม่ใช่หรือ

ขณะที่การแก้ปัญหาเดิมในพื้นที่ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุม โรคติดต่อ มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมทั้งหมดอยู่แล้วในการระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค

อีกทั้งในระดับกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลาง ก็ยังสามารถระดมบุคลากรทางการแพทย์ บูรณาการความช่วยเหลือด้านต่างๆ โดยเฉพาะการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเข้าไปในพื้นที่

การตั้ง ศบค.ส่วนหน้า นอกจากไม่กระจาย อำนาจในพื้นที่แล้ว ยังเกิดหน่วยงานซ้ำซ้อน สับสน เกินความจำเป็น แก้ไม่ตรงจุดหรือไม่

โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นพื้นที่พิเศษ เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายของผู้คน แม้กระทั่งทุกวันนี้สถานการณ์ความไม่สงบยังมีขึ้นเป็นระยะ

ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลทหารเรื่อยมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ยังคงใช้การทหารนำการเมือง ซึ่งพิสูจน์แล้วไม่ได้ผล สูญเสียงบประมาณมหาศาล

กรณี ศบค.ส่วนหน้าภาคใต้ การทหารนำสาธารณสุข จึงเกิดคำถามเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ จะไปสร้างความซ้ำซ้อน กับหน่วยงานเดิมที่ควบคุมแก้ไขโรคระบาดในพื้นที่หรือไม่

รวมถึงงบประมาณ การเบิกจ่ายต่างๆ ที่ต้องเพิ่มขึ้นเกินความจำเป็นด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน