FootNote จาก”กลุ่มราษฎร”สู่”ทรัคส์ พาวเวอร์” ถึงรื้อรัฐธรรมนูญ รื้อระบอบประยุทธ์

เหมือนกับการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 14 พฤศจิกายน กับการเคลื่อนไหวของ “ทรัคส์ พาวเวอร์”ในวันที่ 16 พฤศจิกายน จะเป็นต่างคนต่างนัดหมายและแสดงออก

แต่ถามว่า”เป้าหมาย”ของการเคลื่อนไหวเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ก็จำเป็นต้องยอมรับว่าเป็นอย่างเดียวกัน นั่นก็คือ ในที่สุดแล้วก็เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ยิ่งเมื่อประสานเข้ากับการที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้รับการบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 16 พฤศจิกายน อันเป็น วันเดียวกับของ”ทรัคส์ พาวเวอร์”ยิ่งมากด้วยความเข้มข้น

เพราะไม่เพียงแต่นี่คือร่างที่จัดทำโดยกระบวนการที่เรียกว่า”รื้อ รัฐธรรมนูญ รื้อระบอบประยุทธ์”อันมาจากการเคลื่อนไหวร่วมระหว่างกลุ่ม”รี-โซลูชั่น” กับ”กลุ่มไอลอว์”เท่านั้น

หากแต่คนที่มีบทบาท”ร่วม”เป็นอย่างสูงคือ 2 คน

1 คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล 1 คือ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และ 2 คนนี้จะเป็น 2 ใน 4 ที่จะต้องเป็นผู้ชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภา

ปฏิบัติการ”รื้อรัฐธรรมนูญ รื้อระบอบประยุทธ์”จึงเข้มข้นยิ่ง

ไม่ว่าการชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ว่าการเคลื่อนไหวโดย กระบวนการ”ทรัคส์ พาวเวอร์” ไม่ว่าการแสดงบทบาทของ”รี-โซลูชั่น”จะมีรากฐานความเป็นมาอย่างไร

แต่ทั้งหมดนี้ล้วนดำเนินไปบนเป้าหมายที่ต้องการเรียกร้องต่อระบอบอันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวแทนทั้งสิ้น

นี่จึงไม่เพียงแต่เป็นผลพวงอันสะสมมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร เมื่อเดือนกันยายน 2549 หากแต่ยังเป็นความไม่พอใจซึ่งปะทุอย่าง เป็นรูปธรรมภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

จากการชุมนุมเฉพาะจุด เฉพาะปัญหา เมื่อนำมาร้อยเรียงโยง ให้เห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องก็จะสะท้อนให้เห็นถึงความหงุดหงิด

ล้วนเป็นความหงุดหงิดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สภาพการณ์แห่งการเคลื่อนไหวอย่างที่เห็นอย่างต่อเนื่องนับแต่มีคำวินิจฉัยจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือน กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา

ทำให้ลักษณะแห่งการเคลื่อนไหวได้ยกระดับขึ้นเป็นอย่างสูง

จากการเคลื่อนไหวในทางเศรษฐกิจอย่างที่เห็นผ่าน”ทรัคส์ พาวเวอร์”กลายเป็นการเคลื่อนไหวในทาง”การเมือง”

เท่ากับประสานปัญหา”เศรษฐกิจ”เข้ากับปัญหา”การเมือง”ขึ้น

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน