จับตากฎหมายลูก-เงื่อนไขสู่ยุบสภา

รายงานพิเศษ

จับตากฎหมายลูก-เงื่อนไขสู่ยุบสภา-รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้แล้ว เปลี่ยนมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รวมถึงเขตเดียวเบอร์เดียว นักวิชาการต่างวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง อาจทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ

ขณะเดียวกันก็มีโอกาสนำไปสู่การยุบสภาสูง หลังจากแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จ ทั้งพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.ป.พรรคการเมือง รวมถึงความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ การจัดทำกฎหมายลูกของแต่ละฝ่ายเสนอมาหลายรูปแบบ ที่ได้ประโยชน์ที่สุด ควรจะเป็นแบบนับแล้วคะแนนไม่ตกน้ำ แต่พรรคร่วมรัฐบาลคงให้กลับไปนับคะแนนแบบรัฐธรรมนูญปี 40

เพราะคิดว่าจะได้เปรียบในการนับคะแนน และพรรคพลังประชารัฐและเครือข่ายผู้สนับสนุนรัฐบาล คงไม่สนใจว่าประชาชนจะได้ประโยชน์หรือไม่

ฉะนั้น กฎหมายลูกจะออกมาเพื่อให้พรรคที่จับมือกันตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า จะสนับสนุนพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ต่อไป ได้เปรียบให้ได้มากที่สุด

ในเรื่องการนับคะแนน โดยหลักแล้ว การนับคะแนนแยกหน่วยเลือกตั้งจะอยู่ในที่เปิดเผย ทุกคนยืนดูได้ แต่หากเอามานับรวมกัน ก็มีความเสี่ยง จะเห็นว่าหลายการเลือกตั้งที่ผ่านมา

มีกรณีหีบบัตรเลือกตั้งถูกนำออกไป และยังไม่รวมการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งยังไม่มีใครเคยเห็นนำบัตรเลือกตั้งล่วงหน้ามานับคะแนนอย่างเปิดเผย พอนับคะแนนเสร็จในคืนวันเลือกตั้ง ก็มีบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าเข้ามาสมทบ

ฉะนั้น ถ้าเป็นประโยชน์ที่สุดจะต้องนับที่หน่วยเลือกตั้งแต่ถ้าเอาไปนับรวมกัน อาจจะมีเจตนาซ่อนเร้น ใช้เทคนิควิธีเอาชนะเลือกตั้ง โดยไม่ได้อยู่ในสายตาการตรวจสอบของประชาชน

การใช้บัตรเบอร์เดียวทั้งประเทศ คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือประชาชนไม่ต้องจำแยกเบอร์ และส่วนตัวไม่คิดว่าขนาดของพรรคจะทำให้ได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องบัตรเบอร์เดียว เป็นเรื่องดีที่ประชาชนจะจดจำได้ง่ายด้วยซ้ำ

สำหรับการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น ถือว่าคนไทยมีความคุ้นชิน โดยโครงสร้างการนับคะแนนและบัตร 2 ใบพรรคที่มีความเป็นองค์กรที่แน่นอนในระดับหนึ่งก็จะได้เปรียบ ส่วนพรรคใหม่ พรรคขนาดเล็ก กลุ่มนี้เสียเปรียบแน่นอน

การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เรามีส.ส.ปัดเศษ ที่ได้คะแนน 25,000-30,000 คะแนน แต่ครั้งนี้จะไม่มีโอกาสได้เป็นส.ส. เพราะกว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน น่าจะต้องได้เกิน 300,000 คะแนน

นั่นหมายความว่า ต้นทุนของพรรคเล็กจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 เท่า ซึ่งจะทำให้พรรคเล็กสูญพันธุ์แน่นอน กระทั่งพรรคกล้าก็ยังหืดขึ้นคอ

ส่วนพรรคใหญ่ เช่น พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย เพื่อไทย ก้าวไกล กลุ่มนี้จะได้เปรียบ แม้แต่พรรคก้าวไกล เพราะอย่างน้อยมีความเป็นองค์กรทางการเมือง และมีประสบการณ์การทำงานในสภา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักซึ่งเป็นต้นทุนเบื้องต้น แต่จะรู้จักทั่วถึงแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนการยุบสภานั้น แม้นายกฯ และรัฐบาลจะปฏิเสธ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องยุบสภา เพียงแต่เมื่อไหร่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนายกฯ ในการคลี่คลายสถานการณ์การเมืองมากที่สุด มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะยุบสภาแน่นอน

จากความมุ่งหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะอยากให้ผ่านพ้นช่วงประชุมเอเปกในปลายปี 2565 ไปก่อน เพราะมั่นใจว่าตอนนี้บริหารจัดการโควิดได้ค่อนข้างดีขึ้น มีวัคซีนมาก เริ่มเปิดประเทศคงอยากให้เศรษฐกิจหมุนเวียน

เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตในระดับหนึ่ง ก็มาได้บทผู้นำในการประชุมเอเปก ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์คงจะตั้งความหวังว่าจะเป็นช่วงที่คะแนนนิยม ขึ้นสูงสุด

หลังประชุมเอเปกก็มีเหตุให้ยุบสภาได้ เพราะรัฐบาลจะเหลือวาระอีกแค่ 4-5 เดือน แต่ความคาดหวังกับความเป็นจริงอาจจะคนละเรื่องกัน ขณะที่ความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นอีกสาเหตุหนึ่งในการยุบสภา

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องรอให้กฎหมายลูกเสร็จก่อน เพราะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากจะให้ชอบธรรม กฎหมายควรผ่านที่ประชุมรัฐสภา

การที่รัฐบาลจะยุบสภาแล้วไปออกพระราชกำหนด หรือให้อำนาจ กกต. ไปกำหนดระเบียบเป็นการชั่วคราวก็หมิ่นเหม่จะถูกกล่าวหาว่า นี่คือกระบวนการทำให้การเลือกตั้งไม่โปร่งใส และกลายเป็นชนวนเหตุสร้างความขัดแย้งและ ความไม่ไว้วางใจทางการเมือง

จึงคิดว่าพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลจะไม่เสี่ยง แต่ปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในขณะนี้มีอยู่เงื่อนไขเดียว คือ การไม่ลงตัวกันในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีความพยายามจะแก้ไขปัญหาและกลบเกลื่อนร่องรอย เพื่อประคองให้กฎหมายลูกผ่านไปได้ก่อน

โคทม อารียา

ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อพัฒนาเด็ก และอดีต กกต.

ขั้นตอนหลังรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ รัฐสภาก็ว่ากันไปในส่วนของกฎหมายลูก ซึ่งต้องยอมรับว่า การตั้งสาขาหรือการตั้งกฎเกณฑ์ที่ไปกำกับพรรคการเมือง ทำให้มีข้อจำกัด

ฉะนั้น ต้องมาตกลงกันให้ดีว่า จะมีแบบไพรมารี่โหวตอีกหรือไม่ หรือมีแบบสาขา หรือจะมีเงื่อนไขอย่างไรในการมีสาขาต่างๆ ทางพรรคการเมืองก็ต้องเตรียมตัวในส่วนนี้

อีกส่วนหนึ่งการแบ่งเขต กกต.เคยบอกว่าจะนำการแบ่งเขตแบบเดิมๆ มาใช้ ซึ่งผมก็จำไม่ได้เพราะมีการเปลี่ยนกันบ่อยในส่วนของจำนวนเขต มีการเปลี่ยนบ่อยมาก

จึงมองว่าควรที่จะแบ่งเขตให้ลงตัว ได้เร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะตอนนี้น่าจะมีการแข่งขันกันในพื้นที่แล้ว หากการแบ่งเขตยังไม่ตรงไปตรงมาก็จะไม่เกิดผลดี จะมีส่วนทำให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน

ส่วนการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น สมมติว่าพรรคเล็กเขาอยากส่งแค่บัญชีรายชื่อ ก็คงไม่ได้ แต่เขาสามารถจับมือกัน โดยพรรคขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องส่งลงทั้ง 400 เขต จับมือกันแล้วก็ดูโอกาสแบ่งกันส่ง หรือไม่ส่งผู้สมัครไปแข่งกันเอง กรณีนี้พรรคก็ไม่ได้เสียเปรียบเพราะมีบัตร 2 ใบ

พรรคที่ไม่ส่งลงแบบเขตใดเขตหนึ่ง เขาอาจไปรณรงค์ให้ลงคะแนนให้พรรคของเขาในบัตรบัญชีรายชื่อ แล้วถ้าได้คะแนนบัญชีรายชื่อพอ ก็อาจจะได้ส.ส. 1-2 คน ก็ว่าไป ฉะนั้นการจับมือกันระหว่างพรรคเล็ก ก็มีโอกาสได้ส.ส.เขตจำนวนหนึ่ง

ส่วนปัญหาการนับคะแนนนั้น ผมคิดว่าระยะหลังแทบจะไม่มีปัญหา แต่อย่าลืมถ้าตัวเลขไม่ถึงหรือไม่ตรงกัน อย่างครั้งที่แล้วสังเกตเลย บางทีกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยไม่ระมัดระวัง เสร็จแล้วบวกลบกันไม่ตรง เสียเวลาเยอะ ตอนหลังๆ กลายเป็นว่าไม่มีคนมาดู หรือมีคนมาดูเขาก็พยายามกันให้คนอยู่ห่างๆ

ดังนั้น กกต.น่าจะเอาใจใส่ 1.เวลานับคะแนนให้คนมาดูได้ในระยะที่พอจะเห็นว่ากาบัตรเบอร์ไหน 2.ต้องรัดกุม อย่าเลินเล่อ เหมือนกับการทำบัญชี ต้องบวกบัตรต่างๆ บัตรที่ใช้ ที่ยังไม่ใช้ บัตรดี บัตรเสีย ทั้งหมดต้องทำบัญชี แล้วปิดบัญชีได้ อันนี้จะยุ่งยากขึ้นอีกนิดหนึ่ง เพราะมันมี 2 ใบ อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย

ส่วนที่หลายคนมองว่ากติกาเลือกตั้งใหม่น่าจะดีกว่าครั้งที่แล้วนั้น ครั้งที่แล้วผมไม่ค่อยพอใจเวลาที่เขาคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากไม่ได้ใช้หลักตรรกะเท่าไร ใช้อำนาจกฎหมายให้ในทำนองว่าผมจะตัดสินอย่างนี้ คุณไม่ต้องมาเถียงผม

แต่คราวนี้จะทำอย่างนั้นคงยาก เพราะกติกามันง่ายลง ส.ส.เขตก็นับแบบเดิม ใครได้คะแนนมากคนนั้น คือผู้ชนะ ส่วนบัญชีรายชื่อก็อีกใบหนึ่ง ก็ดูว่าพรรคไหนกี่คะแนน แล้วเอามารวมกันทั้งประเทศ ไม่ต้องสนใจแบบแบ่งเขต เวลาบวกก็ไม่สับสน

ส่วนการยุบสภาจะเกิดช่วงไหนนั้น ถ้าฟังเสียงนายกฯ ที่ บอกว่าจะอยู่ให้ครบเทอม ทุกคนก็ไม่ค่อยแน่ใจ เนื่องจากปัจจัยไม่ค่อยเป็นไปตามใจของนายกฯ เสมอไป เช่น กฎหมายของรัฐบาลเสนอไปเป็นฉบับสำคัญแล้วไม่ผ่าน รัฐบาลอาจจะบอกว่าแล้วจะบริหารอย่างไร

ผมจึงมองปัจจัยสำคัญอยู่ที่พรรคที่สนับสนุนรัฐบาล ขออนุญาตที่เขาพูดกันว่า “สุนัขไม่กลัวน้ำร้อน” ถ้าพูดง่ายๆ คือ อยู่มาพอแล้ว เป็นรัฐบาลมา 3 ปีกว่าแล้ว ไม่กลัวแล้วว่าจะแตกแถวจากรัฐบาล ทำให้เสียงของรัฐบาลไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เขาก็ไปโหวตกับฝ่ายค้าน ทีนี้รัฐบาลก็ไปไหนไม่ได้

พลังประชารัฐเองชักจะไม่หนุนรัฐบาลเท่าที่ควร หรือพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะภูมิใจไทย หรือประชาธิปัตย์บอกว่าพอแล้ว เราทำงานมาแค่นี้ พอมีทุนแล้ว ไม่ใช่ทุน การเงินนะ เดี๋ยวเขาจะหาว่าก้าวล่วง คือมีทุนเรื่องคะแนนทำผลงานดี ก็ได้เวลาลงสนามอีกที เขาก็อาจจะแยกตัวออกไป

ยุทธพร อิสรชัย

รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์

ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

สิ่งที่ต้องทำหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ นอกจากแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นกติกาเลือกตั้งก็คือการเตรียมความพร้อมปฏิบัติตามกติกาใหม่ โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการการเลือกตั้ง และกำกับดูแลการเลือกตั้ง

ประเด็นที่ต้องพิจารณาเฉพาะ คือ ในส่วนของรัฐธรรมนูญ ที่หลายประเด็นยังขัดแย้งกันอยู่ การตีความกฎหมายหากเป็นปัญหา จะส่งผลต่อการนับคะแนนและการสมัครต่างๆ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติหลายส่วนที่ยังขัดแย้งกัน ทั้งวิธีการสมัคร และนับคะแนนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการเลือกตั้ง

นอกจากนี้พรรคการเมืองถือเป็นอีกกลุ่มที่ต้องเตรียมความพร้อม เนื่องจากเป็นตัวแสดงหลักสำคัญที่จะขับเคลื่อนทางการเมืองในระบบรัฐสภาเดินหน้าต่อไปได้หากกระบวนการรัฐสภาเดินหน้าต่อไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นปัญหาต่อรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้น พรรคการเมืองจึงมีหน้าที่ทำให้การใช้รัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อระบบรัฐสภา

อีกส่วนที่ต้องเตรียมพร้อมคือประชาชนทั่วไป ในฐานะผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากกลับไปบัตร 2 ใบ แบบคู่ขนาน

ประเด็นการนับคะแนน มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นปมร้อน เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่บางส่วนยังพูดถึงส.ส.พึงมี ซึ่งอาจนำไปสู่การตีความว่าการคำนวณต้องคิดถึงส.ส.พึงมี ตรงนี้อาจเกิดปัญหาการตีความได้ เพราะมีส่วนที่ไม่สอดคล้องกันในรัฐธรรมนูญ

ส่วนเขตเดียวเบอร์เดียว แน่นอนว่าพรรคใหญ่จะได้เปรียบ เพราะการใช้บัตรเลือกตั้งร่วมกันทั้งประเทศ ส่งผลให้พรรคใหญ่ได้เปรียบอยู่แล้ว ยิ่งมีส.ส. 1 คน 1 เขตพรรคใหญ่จะมีฐานเสียงที่มั่นคงกว่าพรรคขนาดเล็กและพรรคขนาดกลาง

อย่างไรก็ตาม การนับคะแนนถ้าจะให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด คือการนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม แต่เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญไม่ได้ต้องการแบบนั้น

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะดีกว่าเดิมหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบการเลือกตั้ง แต่อยู่ที่การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน

และผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะเป็นที่ยอมรับ และมีความชอบธรรมทางการเมืองในการเข้าสู่อำนาจรัฐหรือไม่ ที่สำคัญ ระบบเลือกตั้งจะต้องเป็นกลไกคัดสรรบุคคลที่มีคุณภาพ ให้เข้ามาเป็นตัวแทนประชาชนได้

ส่วนการยุบสภา มองว่าโอกาสยุบสภา ณ เวลานี้เชื่อว่าจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ปีหน้ามีความเป็นไปได้ เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องในหลายๆ ส่วน ทั้งเศรษฐกิจ โควิด-19 และปมประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวกับวาระดำรงตำแหน่งของนายกฯ

รวมถึงการเมืองนอกสภา แม้นายกฯ จะบอกว่าไม่ยุบแต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน