FootNote เปรม ติณสูลานนท์ บนความตื่นรู้ สำนึกแห่งยอดคำเท่ “ผมพอแล้ว”

ทั้งๆที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่แทบทุกพรรคการเมืองให้ความไว้วางใจ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ที่ทหารทุกเหล่าทัพให้ความเคารพ
แล้วเหตุปัจจัยใดจึงทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต้องปัดปฏิเสธตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ในเดือนสิงหาคม 2531
คำตอบซึ่งประมวลมาจากที่ปรึกษาระดับ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประสานเข้ากับ นายสุขุม นวลสกุล เห็นตรงกันว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตระหนักรู้และเข้าใจอารมณ์สังคม
นั่นก็คือ ตระหนักรู้ว่าเวลา 9 ปีที่อยู่ในตำแหน่งต่อเนื่อง และยาวนานอย่างยิ่งแล้ว แม้จะมีผลงานอย่างต่อเนื่องแต่อารมณ์ที่สะสมและดำรงอยู่ในสังคมก็คือ เกิดความเบื่อ
เป็นความเบื่อและเกิดความต้องการคนใหม่ สิ่งใหม่เข้ามา
การเป็นนายกรัฐมนตรี การเป็นนักการเมืองจึงต้องตระหนักและรับรู้ต่อสภาพความเป็นจริงที่เรียกว่าอารมณ์สังคม
หากไม่ตระหนัก หากไม่รู้ก็อาจจะเดินเข้าสู่ความหายนะได้

จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่มองข้ามต่อสภาพความเป็นจริงแห่งอารมณ์ของสังคมภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2500
จึงถูกรัฐประหารจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนกันยายน ปีเดียวกันนั้น
จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่า การกระทรวงกลาโหม ตลอดจนผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่มิได้ตระหนักรู้ต่ออารมณ์ในทางสังคม
ในที่สุดก็ถูกคลื่นแห่งนักศึกษาประชาชนเรือนแสนเคลื่อน
ออกมาขับไล่ในเดือนตุลาคม 2516 จนต้องออกนอกประเทศ

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายทหารที่เข้ามายังพื้นที่ทางการเมืองแล้วยังบังเกิดความสำเหนียก และกล่าวคำอำลาเพื่อวางมือทางการเมืองได้อย่างทันการณ์
เพียงคำว่า “ผมพอแล้ว” คำเดียว หนทางก็สว่างไสว
ไม่เพียงแต่ทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สามารถผลักภาระที่อยู่บนบ่าหากแต่ยังก้าวไปบนหนทางแห่ง “รัฐบุรุษ”
มีแต่สำนึกรู้และปล่อยวางจึงจะก่อให้เกิดการบรรลุรู้แจ้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน