รายงานพิเศษ

ประเดิมปี65ค่าครองชีพพุ่ง ชาวบ้านอ่วมของแพงทั้งแผ่นดิน

เปิดศักราชปีเสือดุ เล่นงานประชาชนแทบกระอัก ค่าครองชีพพุ่งกระฉูด เพราะนอกจากเจอพิษโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่กำลังระบาดหนัก ยังโดนซ้ำเติมด้วยข้าวของพาเหรดขึ้นราคาจนแพงทั้งแผ่นดิน ถูกก็แต่เฉพาะค่าแรง!

เริ่มด้วยราคาหมูที่แพงขึ้นต่อเนื่อง มีสาเหตุจากผลผลิตที่ลดลง จากการเกิดโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีการระบาดของเอเอสเอฟ การฆ่าตัดตอนหมูทำไปเพื่อป้องกันการระบาดของเอเอสเอฟจากเพื่อนบ้านเท่านั้น!

ส่งผลให้หมูในประเทศมีราคาสูงขึ้นตั้งแต่เดือนต.ค.2564 จากนั้นเป็นต้นมา เพราะผลผลิตหายไปหลายล้านตัว กระทั่งราคาหมูแพงขึ้นทะลุ 200 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) และคาดว่าจะยาวนานหลายเดือน เพราะในวันที่ 11 ม.ค. ได้รับการยืนยันจากกรมปศุสัตว์แล้วว่าประเทศไทยมีการระบาดของโรคดังกล่าวจริง

เมื่อหันหลังกลับไปมองปี 2564 ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง ทำให้รถบรรทุกหยุดเดินรถประท้วงเพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนราคาเชื้อเพลงที่สูงขึ้นได้ โดยต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 35% จากช่วงต้นปี ม.ค. 2564 ที่ระดับราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่เฉลี่ยลิตรละ 22.09 บาท ล่าสุด 12 ม.ค. 2565 ราคาอยู่ที่ 29.84 บาท

ส่วนค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2565 ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 3.78 บาท/หน่วย จากงวดก่อนหน้านี้อยู่ที่ 3.61 บาท/หน่วย ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ไฟเขียวให้ปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2565 ขึ้นไป 16.71 สตางค์/หน่วย และจะทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องแบบขั้นบันไดในงวดถัดๆ ไป

เบรกไว้ได้ทันเพียงราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจีหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว) ที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ขยายระยะเวลาตรึงราคาขายก๊าซหุงต้มไว้ที่ 318 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม (ก.ก.) ต่อไปอีก 2 เดือน เป็นวันที่ 31 มี.ค. 2564 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค.นี้

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นทุนน้ำมันกระทบค่าขนส่ง กระทบโดยตรงกับต้นทุนสินค้าอุปโภค บริโภคเกือบ ทุกตัว สถานการณ์นี้มันเหมือนฝีแตก

สินค้าอุปโภคบริโภคแห่ขึ้นราคา อาทิ ราคาหมู ไก่ ไข่ไก่ ปุ๋ยเคมี น้ำมันปาล์ม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง แป้งสาลี ที่ปรับขึ้นไปก่อนหน้านั้นแล้ว เป็นต้น

ปัญหาหมูแพงนั้น นายชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่า ปกติไทยบริโภคหมูประมาณ 20 ล้านตัว/ปี แต่ที่ผ่านมามีการเกิดโรคระบาดในหมู และการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อระบบการผลิต ทำให้ผลผลิตลดลงต่อเนื่องโดยปี 2564 ผลผลิตหมูทั่วประเทศมีจำนวน 19.27 ล้านตัว ลดลง 13% จากปี 2563 มีผลผลิตรวม 22.05 ล้านตัน ประกอบกับราคาอาหารสัตว์ราคาพุ่งสูงขึ้นมาก จึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง รวมถึงการเกิดโรคระบาดในหมู ส่งผลต่อต้นทุนการเลี้ยงหมูเช่นกัน

ด้านนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาโรคระบาดเอเอสเอฟ ซึ่งผู้เลี้ยงประสบมาตั้งแต่เดือนเม.ย. 2562 ทำให้แม่สุกรหายไปจากวงจรจาก 1,100,000 ตัว เหลือ 500,000 ตัว ลูกสุกร 28 ล้านตัว เหลือ 12-13 ล้านตัว ซึ่งโอกาสที่หมูในประเทศจะเหลือแค่ 20% เป็นไปได้ หากเปิดประเทศคงไม่พอแน่นอน

ขณะที่นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ บอกว่า เกษตรกรเลิกเลี้ยงหรือชะลอการเลี้ยงไปถึง 60% ของจำนวนผู้เลี้ยงทั่วประเทศ จากที่เคยมีถึง 200,000 ราย เลิกเลี้ยงไปแล้ว 120,000 ราย เหลือเพียง 80,000 รายในปัจจุบัน

“ที่ผ่านมาเกษตรกรให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการดูแลผู้บริโภคมาตลอด ทั้งที่ต้องเผชิญกับปัญหารอบด้านมานานกว่า 3 ปี เราต้องแก้ปัญหาโดยลำพัง ต้องดูแลและช่วยเหลือกันเอง โดยไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ จนกลายเป็นปัญหาสะสมทำให้คนเลี้ยงไม่มั่นใจ พากันเลิกอาชีพ และปล่อยเล้าร้าง จำนวนหมูจึงลดลงอย่างมากในวันนี้ ถึงแม้ว่าราคาจะจูงใจ แต่ทุกคนไม่กล้าเสี่ยงเลี้ยง ดังนั้นการจะฟื้นอาชีพและเรียกความเชื่อมั่นของเกษตรกรกลับมาอีกครั้ง ภาครัฐต้องแก้ปัญหาทั้งระบบในทันที เพราะการเพิ่มปริมาณหมูขุนให้กลับมาใกล้เคียง 18-19 ล้านตัวต่อปี จะต้องใช้เวลา 1-2 ปี ภาครัฐต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือคนเลี้ยงหมู ให้เหมือนกับที่ช่วยเหลือเยียวยาภาคเกษตรอื่นๆ” นายสุนทราภรณ์กล่าว

จากปัญหาหมูแพง ลามไปถึงราคา เนื้อไก่ ไข่ไก่ แพงตามไปด้วย เพราะคนหันไปกินไก่ กินไข่แทน

งานนี้ทำเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งไม่ติดสั่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปคิดวิธีและหาทางช่วยประชาชน ในการควบคุมและแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง

โดยกระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลราคาสินค้าโดยตรง แก้ไขปัญหาระยะสั้น แบ่งเป็นในส่วนของไข่ไก่ แม้ว่าสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออก ไข่ไก่ มีการประกาศขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก ฟองละ 20 สตางค์ ส่งผลทำให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ราคาฟองละ 3 บาทหรือขึ้นราคาแผงละ 6 บาท

ล่าสุดกรมการค้าภายใน (คน.) เรียกตัวแทน สมาคมต่างๆ เช่น ผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาขอความร่วมมือได้ข้อสรุปว่าเกษตรกรยอมลดราคาไข่ไก่ลงเหลือ 2.90 บาทต่อฟอง โดยต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 2.85 บาทต่อฟอง

ส่วนการแก้ไขปัญหาราคาหมูแพงมีโครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน (หมูเนื้อแดง) ในก.ก.ละ 150 บาท จากราคาทั่วไปราคาหมูหน้าฟาร์มอยู่ที่ 108 บาทต่อก.ก. ราคาหมูหน้าเขียงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 180-200 บาทต่อก.ก. ดำเนินการไปถึง 31 ม.ค. และจะขยายเวลาโครงการออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

สำหรับราคาเนื้อไก่ ได้หารือกับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่และสมาคมต่างๆ มีมติร่วมกันประกาศราคาจำหน่ายเนื้อไก่และไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม เพื่อใช้เป็นราคากลางจำหน่ายต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน หรือ จนถึงเดือนมิ.ย.2565

โดยราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม ให้จำหน่ายที่ 33.50 บาทต่อก.ก. ไก่สดทั้งตัวรวม/ไม่รวมเครื่องใน 60-65 บาทต่อก.ก. เนื้อน่อง/สะโพก 60-65 บาทต่อก.ก. และเนื้ออก 65-70 บาทต่อก.ก. หมูเป็นหน้าฟาร์ม 108 บาทต่อก.ก. ส่วนในระยะยาว ให้กรมปศุสัตว์และผู้เลี้ยงเร่งเพิ่มการผลิตโดยเร่งด่วน ซึ่งการเลี้ยงไก่ใช้ระยะเวลาประมาณ 45 วัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ย้ำว่า กระทรวงไม่อนุญาตให้ขึ้นราคาสินค้า หากพบว่าฉวยโอกาสจะดำเนินคดีทันที แต่หากมีความจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าในรายการใดก็สามารถทำเรื่องมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิสูจน์เป็นรายกรณี

ขณะที่ภาคเอกชน โดยนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ระบุว่า อาหารสัตว์ขึ้นราคามาตลอด การที่ภาครัฐขอให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ลดราคาอาหารสัตว์ให้เกษตรกร เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นทุนของการผลิตอาหารสัตว์ คือวัตถุดิบที่ใช้ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ปลาป่น มันสำปะหลัง กากถั่วเหลือง เมล็ดถั่วเหลืองที่ผู้ผลิตต้องนำเข้ามาราคาพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก

บวกกับการนำเข้ามีข้อจำกัดมากมาย นอกเหนือจากภาษี ก็ยังมีการจำกัดปริมาณนำเข้า กำหนดโควตา รวมทั้งปัญหาการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะค่าระวางเรือที่สูง ขึ้นมาก

ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาระยะยาวให้กับสินค้าปศุสัตว์ควรปลดล็อกการนำเข้าวัตถุดิบ หากราคาวัตถุดิบลดลงราคาอาหารสัตว์ก็จะลดตามไปด้วย เกษตรกรก็มีต้นทุนที่ลดลงตามไปด้วย

ซึ่งจะทำให้ราคาหมู เนื้อ ไก่ ไข่ไก่ ถูกลงตามต้นทุนที่ต่ำ ทำให้เกษตรกรอยู่ได้ ประชาชนอยู่ได้ รัฐบาลก็ อยู่ได้

คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุกันเสียที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน