‘เศรษฐกิจ-การเมือง’จุดดับรัฐบาล?

รายงานพิเศษ

การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ปีที่ 8
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ยุบสภา ลาออก เนื่องจากสารพัดปัญหารุมเร้า
ทั้งจากเรื่องเศรษฐกิจและปัญหาการเมือง
เรื่องใดจะเป็นจุดตายของรัฐบาล

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

ถามว่าปัญหารุมเร้ารัฐบาลทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง อะไรเป็นจุดตายรัฐบาล โดยส่วนตัวก็ยังมองว่ามันจะคาราคาซังไปอย่างนั้น เป็นภาวะขึ้นลงของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เพียงแต่สถานการณ์ขาลงของรัฐบาลครั้งนี้มันยาวนานต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2562 ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด

แม้จะมองว่ามีปัญหาการเมือง เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และยังกรณีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลจนร่วมงานกันไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาสภาล่มบ่อยครั้ง

คนนอกมองว่ามีปัญหา พูดอย่างไรก็ได้ แต่รัฐบาลก็บอกไม่มีปัญหา ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร ปัญหาสภาล่มเพราะคุมเสียงไม่ได้ ระบอบการปกครองเสื่อมประสิทธิภาพ และเห็นๆ อยู่ว่าเป็นเรื่องการเมือง เป็นการต่อสู้ทางการเมือง

ฝ่ายค้านก็คิดว่าเมื่อทำให้การประชุม การทำงานในสภาเดินหน้าไม่ได้ จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ แต่ที่สุดก็โดนด่าทั้งสองฝ่าย เพราะคนทั่วไปมองว่าเป็นหน้าที่ของสภา เป็นหน้าที่ของส.ส. ที่ต้องมาประชุม

ส่วนเสียงของพรรคเศรษฐกิจไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะพูดอย่างไรก็พูดได้ แต่เมื่อโหวตเสียงก็แตกจากรัฐบาล แต่เมื่อผลโหวตฝ่ายรัฐบาลก็ยังชนะ นายกฯ ก็ยังชนะ ถึงบอกว่าไม่เป็นปัญหา ไม่ยุบสภา ไม่ลาออก

ผู้คนก็งงว่าสถานการณ์ในสภาเป็นอย่างที่เห็น ดูเหมือนรัฐบาลอยู่ลำบาก เราคิดอย่างหนึ่งแต่เขาคิดอีกอย่าง เราคิดว่านายกฯไม่ควรอยู่แล้ว แต่ท่านบอกผมจะอยู่ จะเป็นนายกฯอีกสมัย

อย่างกรณี 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยไม่ร่วมประชุมครม. บอยคอตกรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่หลังจากนั้นก็ออกมาบอกว่าไม่มีปัญหา บอกคุยกันได้ จึงเป็นเพียงการแสดงบทบาทเพื่อเรียกคะแนนนิยม ให้เห็นว่า ทำเพื่อพี่น้องที่เดือดร้อน ถ้าสามารถลดค่าโดยสารได้ 5-10 บาท ก็ได้เสียงไป ดูแล้วไม่ได้แตกหักกันจริงๆ คนเป็นรัฐบาลไม่ได้อยากให้รัฐบาลยุบสภา

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจไม่เฉพาะสภาอุตสาหกรรมฯ สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ รถบรรทุก รวมถึงกลุ่มพีมูฟก็ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ไม่เพียงองค์กรเหล่านั้น คนทั่วไปเติมน้ำมันก็รู้ว่าแพง ซื้อก๋วยเตี๋ยวปัจจุบันชามเท่าไร ที่ออกมาเรียกร้องให้ลาออก ยุบสภา นายกฯอาจถามว่ายุบแล้วเลือกตั้งถ้ายังได้ผมกลับว่าไง คนทั่วไปก็อยู่ในฐานะไปลงคะแนน ลงแล้ว 250 ส.ว.ก็ตั้งนายกฯ

ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่รัฐบาลไม่ได้แก้ แต่แก้ไม่สำเร็จ รัฐบาลกู้เงินมาใช้เท่าไรแล้ว คนละครึ่งออกมากี่รอบ รัฐบาลได้แก้แต่ไม่สำเร็จ แม้สารพัดปัญหารุมเร้า และมีที่แช่งกัน ทุกวัน

แต่นายกฯบอกจะอยู่ต่อ วันนี้สถานการณ์บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ จึงประเมินไม่ได้ว่ารัฐบาลจะไปเมื่อไร จะตัดสินใจลาออก หรือยุบสภาช่วงเวลาไหน แต่เป็นการเมืองที่ไม่ปกติ การตัดสินใจของรัฐบาลจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับบรรยากาศบ้านเมือง

การคาดการณ์ล่วงหน้าว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ถึงไหนจึงยาก เพราะบ้านเมืองไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเป็นสถานการณ์ทั่วไปไม่ควรอยู่มาได้ ถ้าสถานการณ์ปกติไม่น่าจะได้เป็นรัฐบาลตั้งแต่หลังเลือกตั้งเสร็จแล้ว เพราะไม่ใช่พรรคที่ได้เสียงมากที่สุด

ส่วนการยุบสภาก่อนกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งผ่าน สามารถออกพ.ร.ก.ได้ ที่บอกไม่มีกฎหมายลูกแล้วจะทำอย่างไรนั้น ทำได้แต่ไม่ทำ อย่ามาบอกว่าไม่มีทางออก ไม่มีที่บ้านเมืองจะไม่มีกฎหมายมารองรับ มองดูก็รู้ว่าเป็นเกม เป็นข้ออ้างที่จะอยู่ต่อ

อนุสรณ์ ธรรมใจ
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
อดีตกก.ผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี

ปัญหาที่รุมเร้ารัฐบาลทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองอาจส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลได้ แต่คิดว่าเสถียรภาพของรัฐบาลขึ้นอยู่กับเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล หากแตกแยกกันก็จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล

ส่วนการบริหารประเทศให้เป็นที่ยอมรับต่อกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำก็เป็นปัจจัยสำคัญพอๆ กับความสามารถในการแก้ไขปัญหาของประชาชนว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างไร นอกจากการบริหารด้วยความโปร่งใส ไม่มีการทุจริต และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมากต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

ส่วนเรื่องของแพงนั้น ปัญหาน้ำมันแพงที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกน่าจะขึ้นไปทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในครึ่งปีแรก จากนั้นราคาพลังงานน่าจะลดลงจากกรณีอิหร่านเริ่มส่งออกได้ และกลุ่ม Shale oil Shale Gas น่าจะขยายกำลังการส่งออก

รัฐบาลจึงใช้วิธีแทรกแซงราคา โดยให้กองทุนน้ำมันมาอุดหนุนราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร หากไม่แทรกแซงเลยราคาจะสูงกว่านี้มาก ดังนั้นเฉพาะปัญหาน้ำมันแพงจะไปโทษรัฐบาลก็ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากไทยนำเข้าพลังงานสุทธิ ซึ่งการปรับโครงสร้างพลังงานให้พึ่งพาน้ำมันก๊าซจากฟอสซิลหรือพลังงานนำเข้าอื่นๆ ต้องใช้เวลา

ส่วนเรื่องราคาอาหารที่แพงขึ้นต้องโทษรัฐบาล ที่ปกปิดข้อมูลและการแก้ปัญหาโรคระบาดหมู รวมทั้งไม่ลงทุนระบบชลประทานเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม ให้ดีและมากพอ ทั้งที่เราไม่ควรมีปัญหาเรื่องอาหารแพง เพราะเป็นประเทศส่งออกอาหารมาตลอด

สำหรับเงื่อนตายของรัฐบาลมองว่าน่าจะอยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาลขัดแย้งกันโดยเฉพาะโครงการสัมปทานขนาดใหญ่ จัดสรรผลประโยชน์กันไม่ลงตัว ดังที่เห็นว่ามีความแตกแยก ในพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งคือความแตกหักระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรค ภูมิใจไทย

ส่วนเรื่องของแพง และราคาน้ำมันแพงก็เป็นสิ่งที่ทำให้สถานการณ์เสถียรภาพรัฐบาลย่ำแย่ลง แต่ไม่ใช่ตัวชี้ขาดหรือเงื่อนตาย

ในหลักการแล้วรัฐบาลอยู่ครบวาระควรเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศและประชาชน หากเป็นรัฐบาลที่มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์ และมาถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และครรลองประชาธิปไตย หากไม่ได้เป็นแบบที่ว่ายิ่งอยู่นานยิ่ง เสียหาย ดังนั้นการลงจากอำนาจตามกลไกประชาธิปไตย และกฎหมาย ไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น หากเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยจะไม่มีปัญหา

และรัฐบาลจะอยู่ครบไม่ครบวาระไม่ใช่ปัจจัยที่จะส่งต่อทิศทางประเทศ เพราะหากเลือกตั้งเร็วขึ้นก่อนครบวาระอาจเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจก็ได้ เพราะเกิดความหวังใหม่ และเงินจะสะพัดจากกิจกรรมการเลือกตั้ง

ธเนศวร์ เจริญเมือง
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช.

ปัญหาทั้งเศรษฐกิจและการเมืองของไทยตอนนี้คล้ายกับเกาหลีในอดีตอย่างมาก สังเกตว่ารัฐบาลเกาหลีอยู่ได้ 7-8 ปี ก็เกิดปัญหา สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ ทำงานได้ 7-8 ปี ก็มีปัญหา มาถึงรัฐบาลขณะนี้ก็เหมือนกันคืออยู่มาได้ 7-8 ปี สะท้อนว่าการปกครองของคนเราเมื่อถึงถึงระยะ 5-6 จุดอ่อนของการบริหารจะยิ่งสะท้อนออกมา

ในส่วนรัฐบาลนี้มี 2 ประเด็น คือ เป็นรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ มาจากการฉ้อฉลอำนาจ เล่นพรรคเล่นพวก และเมื่อเข้ามาในอำนาจแล้ว ช่วงแรกดูราบรื่นดีเพราะมีคนเข้ามารุมเนื่องจากมีอำนาจ แต่พออยู่ไปนานๆ เรื่องที่ไม่ดี ความไม่มีมนุษยสัมพันธ์ ที่สำคัญคือความสามารถอ่อนด้อย ทำให้การบริหารงานมีปัญหา พอทำงานมาถึงปีที่ 6-7 ก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

บุคลิกนิสัยใจคอของผู้นำยิ่งชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นคนที่มาจากระบบขุนนาง ระบบราชการ ไม่มีความเป็นนักการเมือง ไม่เข้าใจลักษณะของคนทั่วไป ที่ต้องรับฟังแลกเปลี่ยนปัญหา ไปไหนก็ไม่ฟังใคร เข้าไม่ถึงชาวบ้าน พอมาถึงจุดนี้อุปนิสัยส่วนตัว อีกทั้งไม่สามารถเป็นผู้นำประเทศที่แก้ปัญหาต่างๆได้ ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ทำให้สังคมไม่มีทางไป

ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่กระแสข่าวเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่ผู้นำมีปัญหา ทำให้ขณะนี้รัฐบาลไปไม่ได้แล้วและมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ให้นายกฯ พิจารณาตัวเองแต่ก็ไม่มีคำตอบ นอกจากเดินหนีแล้วเปิดเพลงขออย่ายอมแพ้ แบบนี้ไม่ใช่ทางออกของปัญหา

มาถึงจุดนี้ไม่ได้มีแต่ฝ่ายค้านที่เรียกหาประชาธิปไตย แต่คนที่อยู่ในรัฐบาลเองเริ่มรู้สึกว่าอยู่แบบนี้อยู่ยาก ไม่น่าจะไหวแล้ว ถ้ายังไม่ออกตัวเองอาจเสียหายได้ เหตุใดยังไปสนับสนุน จึงเกิดอาการดีดตัวออก ให้สังเกตการดีดออกของคนพวกนี้จะรวดเร็วมาก ตอนยึดอำนาจก็เร็วในการเข้าไปเกาะ รู้ว่าแหล่งไหนให้ผลประโยชน์ มาถึงตอนนี้เริ่มรู้แล้วว่าไม่ได้ เพราะไปที่ไหนก็เจอแต่เสียงบ่น

ส่วนปัญหาสภาล่ม ประเทศที่พัฒนาแล้วคนที่เป็นส.ส.ภารกิจคือการเข้าประชุม คนขาดประชุมน้อยมาก นอกจากป่วยหรือติดธุระจริงๆ ปรากฏการณ์สภาล่มบอกเราได้ว่าพรรคฝ่ายค้านเองก็ไม่เป็นเอกภาพ เพราะวิธีคิดบางอย่างแตกต่างกัน ทำให้จุดเน้นต่างกัน จึงเกิดปัญหาด้านยุทธวิธีในการทำงาน

ส่วนฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจก็มีมุมมองที่แตกต่างกันอีก เพราะอุดมการณ์ไม่เคยตรงกัน แต่ที่มารวมกันเพราะเห็นผลประโยชน์ พออยู่มาเรื่อยๆ เริ่มมีปัญหาจนเกิดความขัดแย้งภายใน ตรงนี้ยิ่งทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายมาก ถือเป็นปรากฏการณ์ทั้งฝ่ายรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจและฝ่ายค้านด้วย ฝ่ายที่รอยึดอำนาจคงคิดว่าให้ยุ่งๆ แบบนี้ จะได้มีเหตุผลออกมายึดอำนาจอีกครั้ง

แต่คิดว่าในโลกปัจจุบันคนเรียนรู้แล้วว่าเวลามีการเลือกตั้งปกติ ทะเลาะกันอย่างไรก็แก้ไขได้เพราะเป็นเกมการเมือง ครบวาระหรือบริหารไม่ไหวก็ลาออกไป แต่เวลานี้คือเขาดื้อ ฝ่ายที่มาจากการยึดอำนาจคิดว่าถ้าถอยคือเขาแพ้จึงไม่ยอมออก เขาไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง

คงบอกไม่ได้ว่าอะไรจะเป็นจุดตายของรัฐบาล แต่หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ พยากรณ์ได้ว่าจะมีตัวแสดงออกมาพูดถึงปัญหาของบ้านเมืองมากขึ้น ทั้งหมดจะบีบให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง คือลาออกหรือยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน