คณะรัฐมนตรี เห็นชอบปรับลดอัตราภาษี สรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันลงไม่เกิน 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะ 3 เดือน โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา

ภาษีส่วนนี้จัดเก็บจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันโดยกรมสรรพสามิต เนื่องจากเป็นสินค้าที่ ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามหลักผู้ก่อมลภาวะเป็นผู้จ่าย ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527

คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะรัฐบาลกำหนดสิ้นสุดการปรับภาษีน้ำมันดีเซล ทุกชนิดลงในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565

ทำให้สูญเสียรายได้เดือนละ 5,700 ล้าน รวมสามเดือน 17,100 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง แต่รัฐบาลใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนเงินกองทุนติดลบ และกำลังจะขอกู้ใหม่ แต่ติดขัดที่ ขั้นตอนกฎหมาย

กระทรวงการคลังจึงยินยอมใช้มาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลแทน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้สมาพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทย นักวิชาการ ตลอดจนนักการเมืองก็เสนอให้ใช้วิธีนี้ แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธมาตลอด

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมันนั้นทำให้รัฐมีรายได้ถึงปีละกว่า 200,000 ล้านบาท ถือเป็นรายได้หลัก หากสูญเสียรายได้จากตรงนี้จะทำให้ฐานะทางการคลังเปราะบางมาก

สุดท้ายเมื่อหาทางออกไม่ได้ ก็จำใจยอมเฉือนรายได้ที่เก็บจากประชาชน








Advertisement

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตรึงราคาน้ำมันดีเซลมาโดยตลอด ขณะที่ผู้ใช้น้ำมันชนิดอื่นต้องร่วมแบกภาระด้วย เช่น ผู้ใช้รถยนต์น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์

ตั้งแต่ต้นปี ราคาน้ำมันกลุ่มนี้พุ่งทะยานขึ้นตลอดเวลา ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงขณะนี้ มีการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องแล้ว 11 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4 บาท 40 สตางค์

ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งเป็นทางเลือกของประชาชน ปรากฏว่าขณะนี้แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 36 บาท 15 สตางค์ต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 35 บาท 88 สตางค์ต่อลิตร, อี 20 อยู่ที่ 35 บาท 4 สตางค์ต่อลิตร และอี 85 อยู่ที่ 28 บาท 34 สตางค์ต่อลิตรแล้ว

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มนี้ รัฐบาลจึงควรพิจารณาลดภาษีด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน