แม้รัฐบาลมีมติรับ 15 ข้อเรียกร้อง ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พี-มูฟ) เพื่อนำไปแก้ปัญหาต่อไป แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังต้องถูกดำเนินคดี อันเป็นผลสืบเนื่องจากการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

มีผู้ถูกแจ้งข้อหาตามพ.ร.ก.การบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวนมาก ส่วนใหญ่ เป็นชาวบ้าน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหว ล่าสุด 12 คน เข้าพบตำรวจเพื่อรับทราบข้อหา

โดยกลุ่มผู้ชุมนุมและภาคประชาชนเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวสะท้อนบ้านเมือง ไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องการปิดปากประชาชน หรือไม่ ทั้งที่ปัญหาเกิดจากนโยบายการพัฒนา และการบริหารของรัฐบาลผิดพลาด

จึงเรียกร้องให้หยุดใช้กฎหมายอย่างแข็งกร้าว และยุติการดำเนินคดี

นับตั้งแต่ปี 2563 นักเรียน นักศึกษา พลังหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ทวงคืนความปกติ ด้วยการปรับโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมครั้งใหญ่ ถูกรัฐบาลใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินควบคุมจัดการ

เรื่อยมาจนถึงการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด แม้ช่วงแรกมีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายอย่าง เข้มข้น แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รัฐบาล กลับยังคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ จนกลายเป็นข้อครหา เพื่อจัดการกับผู้เห็นต่าง และฝ่ายตรงข้าม

มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก แม้กระทั่งเยาวชน รวมถึงกลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อน และชีวิตล่มสลายจากโครงการพัฒนาของรัฐที่ผิดพลาด แล้วออกมาชุมนุมทวงถาม

จนล่วงมาเกือบ 2 ปี กลายเป็นคดีความมากมาย ตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ และศาล

กรณีพี-มูฟ และภาคประชาชนเครือข่ายต่างๆ ล้วนมีความเห็นไปยังรัฐบาลควรยกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉินได้แล้ว เพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้แก้ไขสถานการณ์โควิดในขณะนี้

พร้อมกับคำถามและข้อห่วงใย ใช้เป็นเครื่องมือดำเนินคดีกับประชาชนที่มาเรียกร้องสิทธิต่างๆ หรือไม่ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือแก้ปัญหาที่เรียกร้อง ไม่ใช่การดำเนินคดี

โดยประชาชนที่ถูกดำเนินคดีไม่น้อยเป็นกลุ่มคนจนเมือง คนไร้บ้าน เกษตรกร กลุ่มคนฐานราก ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขา และกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น

การเดินขบวนชุมนุมประท้วง เป็นอาวุธ เดียวของคนจน เพื่อต่อรองต่อสู้กับอำนาจรัฐไม่เป็นธรรม และอำนาจทุน เอารัดเอาเปรียบ การปิดกั้นจึงเหมือนการ ปิดปากมัดมือเท้าให้ยอมจำนนอย่างเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน