กระทรวงสาธารณสุข ปรับวิธีการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในรูปแบบใหม่ เริ่มเปิดใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา
รูปแบบที่ว่านี้ คือบริการ “เจอ แจก จบ” ระบุเป็นการเพิ่มการดูแลแบบระบบผู้ป่วยนอก คนไข้ไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลเหมือนกับที่ผ่านๆ มา
วิธีการดังกล่าวคือ การตรวจคัดกรองผู้ที่สงสัยว่าป่วยโควิด-19 ด้วยชุดตรวจเอทีเค หากพบว่าผลเป็นบวก แพทย์จะพิจารณาสั่งจ่ายยารักษาตามอาการที่เป็น
แบ่งเป็น 3 สูตร ได้แก่ 1.ยาฟาวิพิราเวียร์ 2.ยาฟ้าทะลายโจร และ 3.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก และละลายเสมหะ

สําหรับกลุ่ม 608 หรือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 โรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ก็จะใช้ระบบการรักษาแบบนี้ด้วยเช่นกัน
ถ้าหากมีความเสี่ยงสูง หรือเป็นโรคประจำตัวที่มีอาการมาก แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาแบบ ผู้ป่วยใน โดยรับเข้ามาพักรักษาในโรงพยาบาล ต่อไป
ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และเป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่การเป็นโรคติดต่อที่สามารถดูแลรักษาได้ด้วยตนเอง
ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการให้โรคโควิด-19 ออกจากการเป็นโรคระบาดใหญ่ ไปสู่การเป็นโรคติดต่อทั่วไป หรือโรคประจำถิ่น

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติพบว่าสิทธิการรักษาแบบนี้ ยังไม่ครอบคลุม และสร้างความยุ่งยากให้แก่โรงพยาบาลคู่สัญญา เนื่องจากยังเบิกจ่ายจากสำนักงานประกันสังคมไม่ได้
นอกจากนี้ ในระยะแรกๆ ที่ประกาศให้ผู้ป่วยติดต่อขอรับสิทธิ์ผ่านระบบประกันสังคม แต่ปรากฏว่าระบบไม่สามารถรองรับได้ ทำให้มียอดตกค้างเป็นจำนวนมาก
ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวยอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงกว่าหลักหมื่นทุกวัน จึงทำให้การประสานงาน และการสื่อสารกันระหว่างผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่มีอุปสรรค
จนถึงขณะนี้วิธีการรักษาแบบเจอ จ่าย จบ ผ่านมาแล้ว 2 สัปดาห์ น่าจะพอทราบปัญหาและอุปสรรคแล้วว่าเกิดจากอะไร จากนี้ไปหวังว่าได้เห็นการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน