ตัวเลขล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2564 กระทรวงมหาดไทยรายงานจำนวนประชากรที่มีทะเบียนราษฎรในกรุงเทพมหานครว่ามีทั้งสิ้น 5,527,994 คน
ในจำนวนนี้ คาดว่ามีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งสิ้น 4,481,523 คน เป็นผู้มีอายุ 18-27 ปีซึ่งเป็นผู้มี สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกถึง 698,660 คน เนื่องจากไม่มี การเลือกตั้งติดต่อกันนาน 9 ปี
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสูงสุดอยู่ในวัย 28-40 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 1,013,270 คน ส่วนที่เหลือเป็นผู้ที่อยู่ในวัย 41-80 ปีขึ้นไป
นักวิชาการมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่น่าจับตาคือเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ครั้งแรกว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ส่งผล ต่อการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่ามีความแตกต่างที่สำคัญคือ คนจำนวนมาก ต่างรอคอยให้จัดการเลือกตั้งเสียที
เนื่องจากเว้นถ่างมากที่สุดในยุคการเลือกตั้ง ผู้บริหารที่มาจากประชาชน คือ ว่างเว้นถึง 9 ปี จึงเชื่อว่าความคาดหวังที่คนรอคอยจะทำให้ออกมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนมาก
ขณะที่รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จาก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็วิเคราะห์ในทิศทางเดียวกันว่าเกือบ 7 แสนเสียงของนิวโหวต จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นคุณ ต่อระบอบประชาธิปไตย
พร้อมยกเหตุผลกรณีการชุมนุมทาง การเมืองที่มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอาระบอบรัฐประหาร อีกทั้งรังเกียจการชุมนุมเรียกร้องรัฐประหารแบบที่ผ่านมา ซึ่งน่าจับตาต่อสิ่ง ที่จะเกิดในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างยิ่ง

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2556 เป็นการต่อสู้ระหว่างสองพรรคการเมือง อีกทั้งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอยู่ใน ช่วงการก่อเกิดของม็อบจัดตั้งเพื่อขับไล่รัฐบาล
ต่อมาผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปก็ถูกอำนาจพิเศษ ของคณะรัฐประหารปลดออกแล้วแต่งตั้งคนของ ตัวเองขึ้นมาทำหน้าที่แทน อยู่ในตำแหน่งนานกว่าที่อยู่ตามวาระเสียอีก
การเลือกตั้งครั้งนี้ ดูจากตัวผู้สมัครแล้วมีความหลากหลาย ทั้งกลุ่มที่มาจากอำนาจเก่า กลุ่มตัวแทนพลังทางการเมืองเดิม รวมถึงคนรุ่นใหม่ ที่มีนวัตกรรมทันสมัย และมีแนวคิดเชิงบริหารที่ กล้าท้าทาย
ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะส่งสัญญาณถึงรัฐบาล ผู้นำ และพรรครัฐบาลที่มาจากผลพวงของรัฐประหารด้วยหรือไม่ คะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่จะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน