FootNote คบเพลิงการต่อสู้ “คนเสื้อแดง” ส่งมอบถึง ราษฎรทะลุฟ้า วันนี้

12 ปีแห่งการรำลึกการล้อมปราบในสถานการณ์วันที่ 10 เมษายน ปรากฏขึ้นในสถานการณ์ทางการเมืองอันแหลมคมยิ่งที่ไม่เพียงสะท้อนชะตากรรมของ “คนเสื้อแดง”
หากคำถามที่ดังขึ้นกึกก้องก็คือ ทั้งๆที่มีการสังหารหมู่กลางเมืองเหตุใดคดี 10 เมษายน 2553 จึงแทบไม่มีอะไรคืบหน้า
มองจากด้านของคนเสื้อแดง พวกเขาหลายคนที่ถูกจับกุมก็ได้ต่อสู้คดีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงศาลฎีกากระทั่งได้รับการปล่อยตัว แต่ต่อคนที่ลั่นไกปืนสังหารคนเสื้อแดงกลับไม่มีอะไรคืบหน้า
คำถามนี้ไม่เพียงแต่เสนอตรงไปยัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หากแต่ยังเสนอตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
เนื่องจากการสอบสวนบรรดาคนที่ลั่นไกปืนมีอันต้องยุติลงทันที
ที่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้เกิดขึ้นราวกับเป้าหมายสำคัญของการรัฐประหารก็เพื่อการนั้น
นี่คือปัจจัยที่ยังค้างคาอยู่ในวาระ 12 ปีแห่ง 10 พฤษภาคม

ความแหลมคมของคำถามมิได้มาจากแกนนำนปช. มิได้มาจากเหล่าคนเสื้อแดงที่ยังมีชีวิตอยู่ และเข้าร่วมในการจัดงานรำลึกสหายผู้เสียสละไปแล้วเท่านั้น
หากแต่นับจากเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา คำถามนี้ได้ตกไปยังมือของ “คนรุ่นใหม่”
ไม่ว่าจะเรียกตัวเองว่า “เยาวชนปลดแอก” ไม่ว่าจะเรียกตัวเองว่า “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ไม่ว่าจะเรียกตัวเองว่า “ราษฎร” กระทั่งแตกแขนงออกเป็น “ทะลุฟ้า” และ “ทะลุแก๊ส”
งานรำลึกถึงการต่อสู้อย่างไม่เสียดายชีวิต ไม่กลัวคุกตะรางของ “คนเสื้อแดง” เมื่อ 12 ปีก่อนจึงกลายเป็น “จิตวิญญาณ”ใหม่
และกลายเป็นการคารวะจาก “เยาวรุ่นรุ่นใหม่” ในปัจจุบัน

เท่ากับการต่อสู้อย่างวีระอาจหาญเมื่อ 12 ปีก่อนของ “คนเสื้อแดง” มิได้สูญเปล่าท่ามกลางการปราบปรามเข่นฆ่าอย่างเหี้ยมโหด หากแต่ได้กลายเป็น “มรดก” ในทางประวัติศาสตร์
เหมือนเดือนมิถุนายน 2475 เหมือนเดือนตุลาคม 2516
ตรงนี้เองที่บทบาทของ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ได้กลายเป็นดั่งสะพานเชื่อมมายังบทบาทของ เพนกวิน ไผ่ ดาวดิน
การต่อสู้ในอดีตจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการต่อสู้ในวันนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน