รัฐบาลปลื้มกับมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ปี 2565 อย่างมาก สังเกตจากการออกมาพูดถึงความสำเร็จหลายครั้ง
ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4
ข้อมูลล่าสุดพบว่าผู้ใช้สิทธิสะสมรวมทั้งสิ้น 40.94 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมรวม 68,441.16 ล้านบาท โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง มีผู้ใช้สิทธิสะสม 26.27 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 60,149.62 ล้านบาท
แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนใช้จ่ายสะสม 30,621.00 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 29,528.62 ล้านบาท และใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน

ขณะที่โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.37 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 7,625.46 ล้านบาท
และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.30 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 666.08 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม โครงการประชานิยมดังกล่าวที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่ามีผลกระทบกับฐานะการคลังของประเทศ และซ่อนสิ่งที่เป็นจะเป็นปัญหาระยะยาวไว้มาก
ส่วนพรรคฝ่ายค้านก็ระบุว่ารัฐบาลใช้เงินมากกว่าประชานิยมไปแล้วกว่า 20 ล้านล้านบาท จนหนี้ประเทศพุ่งไป 10 ล้านล้านบาท แต่ไม่อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเร็วๆ นี้ คงจะมีข้อมูลสำคัญที่แสดงให้เห็น

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนรอบใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 13.45 ล้านคน โดยขยายเพิ่มจำนวนเป็น 20 ล้านคน
กำหนดเปิดลงทะเบียนและคัดกรองในช่วงไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะอยู่ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และเริ่มใช้สิทธิได้ไตรมาสที่ 4 หรือเดือนตุลาคม
รายได้ของผู้ลงทะเบียนใหม่ต้องไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปี หากมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยต้องไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปีเช่นกัน
ในทางเศรษฐศาสตร์ย่อมถือว่าเป็นการบริหารที่ล้มเหลว เพราะจำนวนคนจนเพิ่มขึ้น แต่ที่ทำเพราะรัฐบาลอาจหวังผลทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน