ท้วงติงและวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวาง เรื่องงบประมาณ 7.5 ล้านบาทของกองทัพบกเพื่อตรวจสอบเครื่องจีที 200 สำหรับตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด จำนวน 757 เครื่อง

ในที่สุดกองทัพบกยอมคืนเงิน 3.2 ล้านบาท ของปีงบประมาณ 2564 ที่ตรวจสอบเครื่องจีที 200 ไปแล้ว 320 เครื่อง เฉลี่ย 10,000 บาทต่อการผ่าพิสูจน์ 1 เครื่อง

ส่วนงบปี 2565 ตั้งไว้ 7.27 ล้านบาท เพื่อตรวจพิสูจน์เครื่องที่เหลือ กองทัพระบุว่าเป็นการตั้งงบก่อนศาลมีคำพิพากษา และเป็นไปตามกระบวนการแสวงหาพยานหลักฐาน หากคดีถึงที่สุดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้งบ

เป็นคำอธิบายถึงข้อสังเกตต่อการตรวจพิสูจน์เครื่องจีที 200 ที่ตั้งงบไว้มาก และจำเป็นต้องมากขนาดนั้นหรือไม่

จีที 200 เป็นเครื่องผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งในการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ผ่านมา โดยส.ส.พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามถึงการตั้งงบตรวจพิสูจน์เครื่องเป็นเงินสูงผิดปกติ

ต่อมากระทรวงกลาโหมชี้แจง โดยอ้างถึงความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด เกี่ยวกับการตรวจสอบเครื่องที่ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากเป็นสาระสำคัญของคดีฟ้องร้องบริษัทผู้ขาย จึงมีความจำเป็นต้องตรวจสอบทุกเครื่อง

ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดระบุคดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้บริษัทผู้ขายชำระเงินให้กองทัพบก 683 ล้านบาท ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบเครื่อง เนื่องจากคดีสิ้นกระแสความแล้ว

ส่วนที่อัยการยืนยันก่อนหน้านี้เพื่อให้ตรวจสอบนั้น เพราะมีความจำเป็นทางคดี แต่เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปตรวจสอบอะไรอีก

อย่างไรก็ตาม การผ่าพิสูจน์ตรวจสอบเครื่องจีที 200 ที่ผ่านไปแล้ว 320 เครื่อง ใช้งบ 3.2 ล้านบาท ถือว่าการกระทำ และใช้งบสำเร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง

แม้ต่อมากองทัพบกแสดงความรับผิดชอบ ตระหนักถึงการใช้เงินภาษีประชาชนที่ถูกท้วงติงถึงความไม่เหมาะสม ไม่พอดี หรือสูงมากไปจนเกินความจำเป็น ด้วยการคืนเงิน

แต่เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพสถาบันหลักด้านความมั่นคงของชาติต้องทำให้เป็นแบบอย่าง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะต้องตรวจสอบลงลึกรายละเอียดด้วยหรือไม่

เพราะสาเหตุอะไรถึงเกิดความบกพร่อง ไม่รอบคอบ ไม่รัดกุม ถึงได้ตั้งงบประมาณจนเกินความพอดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน