ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2565 รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้โรงพยาบาลต่างๆ สามารถจัดซื้อจัดหายาต้านไวรัสได้เอง เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ

เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิดทิศทางลดลง ประเทศไทยควบคุมการระบาดได้ และระบบสาธารณสุขรองรับได้ จึงต้องปรับเรื่องการบริหารยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์

อีกทั้งประชาชนต่างมีความเข้าใจ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรค ทั้งเคยติดเชื้อมาแล้ว หรือบุคคลใกล้ชิด คนในครอบครัวติดเชื้อ หากอาการไม่รุนแรงก็รักษาตัวที่บ้าน ด้วยการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง

ดังนั้น การอนุญาตให้ร.พ.จัดหายาต้านไวรัสได้เอง คาดว่าจะทำให้ผู้ป่วยโควิดเข้าถึงยาได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

ปัจจุบันในระบบสาธารณสุขไทยใช้ยาต้านไวรัสหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด และเรมเดซิเวียร์ เป็นต้น

ซึ่งยาต้านไวรัสแทบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาแพง แต่ละคอร์สการรักษาเป็นหมื่นบาท แม้บางชนิดอย่างฟาวิพิราเวียร์ ที่ไทยผลิตได้เองบ้าง แต่ก็มีคำถามจากสังคมมาโดยตลอดว่าเพียงพอจริงหรือไม่

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น ห้ามใช้ในผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามใช้ในผู้หญิงมีครรภ์ ที่สำคัญต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจแพทย์

แม้อนุญาตให้ร.พ.ต่างๆ จัดหายาต้านไวรัสได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าถึงได้ตามร้านขายยา หรือคลินิกทั่วไป

ที่ผ่านมามีข้อเปรียบเทียบจากหลายประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาค ที่องค์การบริหารสิทธิบัตรยาร่วมให้สูตรการผลิตยาต้านไวรัส และนำไปผลิตใช้เองในราคาไม่แพง

ล่าสุด นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ ร.พ.เอกชน ยกตัวอย่างในประเทศเพื่อนบ้าน หากติดเชื้อก็สามารถไปซื้อยาต้านไวรัสได้ที่ร้านขายยาในราคาไม่แพง ซึ่งช่วยเพิ่มช่องทางในการรับยา ไม่จำเป็นต้องรับยาจากสถานพยาบาลเหมือนประเทศไทย

เป็นอีกสิ่งสะท้อนเรื่องบริหารจัดการยาต้านไวรัสของระบบสาธารณสุขไทย ดังนั้นหลังจากอนุญาตให้ร.พ.ต่างๆ จัดหายาได้เองแล้ว ยังจะต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรในการกระจายไปตามร้านขายยา หรือคลินิกทั่วไป ให้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่

การที่ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ยังจะช่วยลดปัญหาการนำเข้ายาผิดกฎหมาย ยาปลอม ยาอันตรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน