ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีมติยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป

พร้อมๆ กับยุบหน่วยงานบริหารสถานการณ์นี้ไปด้วยในวันเดียวกัน หลังจากบังคับใช้กฎหมายพิเศษนี้มานานถึง 2 ปี 6 เดือน

โดยรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร อ้างว่าเพื่อควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563

จากนั้นก็ต่อและขยายเวลาอย่างต่อเนื่องรวม 19 ครั้ง ล่าสุดกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ยกเลิก เพื่อใช้กฎหมายปกติ

ศบค.ชี้แจงเหตุผลว่าปัจจุบันการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้น และสถานการณ์ในประเทศไทยก็มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และแนวโน้มของผู้เสียชีวิตลดลง

ประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆ สามารถดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และสถานการณ์อื่นๆ ก็คลี่คลาย

มาตรการต่างๆ ที่ใช้บังคับ และกระทบกับการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนก็ต้องผ่อนคลายให้ใกล้ระดับปกติมากที่สุด

เพราะตลอดระยะเวลา 2 ปีครึ่ง ที่เกิดการระบาดของโรค ประชาชนเรียนรู้ มีความเข้าใจ มีวิธีการดูแลและป้องกันตัวเองอย่างน่าชื่นชม








Advertisement

ต้องยอมรับว่าช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายพิเศษฉบับนี้ มีความไม่สุจริตใจรวมอยู่ด้วย มีการแอบแฝงเพื่อกำราบผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

มีผู้ชุมนุมจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ถูกหมายเรียก ถูกกลั่นแกล้งเหวี่ยงแหจับกุม แจ้งข้อหาดำเนินคดีเป็นประวัติการณ์

แอมเนสตี้ประเทศไทย องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก ระบุว่ามีประชาชนอย่างน้อย 1,467 คน ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการแสดงออกและชุมนุมประท้วง

ไหนๆ รัฐบาลก็ยกเลิกการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้แล้ว ดังนั้นคดีความทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นผลมาจากการบังคับใช้ก็น่ายุติลงไปด้วยเช่นกัน การนิรโทษกรรมให้พ้นผิดจึงต้องดำเนินการโดยเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน