สถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำปาไหลหลาก แม่น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังยังไม่ทุเลาบรรเทาและคลี่คลาย เกิดผลกระทบแทบจะทั่วประเทศ ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ยกเว้นภาคใต้

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย รายงานยังคงมีน้ำท่วมเกือบ 30 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบแล้วเกือบ 3 แสนครัวเรือน

ขณะนี้หนักที่สุดส่วนใหญ่อยู่ในหลายจังหวัดภาคกลาง เนื่องจากรับน้ำต่อจากภาคเหนือ ก่อนผ่านกรุงเทพฯ ออกสู่ทะเลอ่าวไทย และภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะที่ จ.อุบลราชธานี เนื่องจากรับน้ำจากแม่น้ำชีและแม่น้ำมูน ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง

ล่าสุดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเตือน เฝ้าระวังจังหวัดลุ่มน้ำท่าจีน เตรียมรับสถานการณ์ในลำดับต่อไป

แม้เรื่องพายุเข้าและร่องมรสุมเป็นภัยธรรมชาติ ฤดูกาลปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ ก็จะทุเลาบรรเทา ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ หากบริหารจัดการได้ดีพอ หรือมีวิสัยทัศน์ โครงการ และนโยบายใหม่ๆ สำหรับป้องกันและแก้ปัญหาระยะยาว

ดังที่ทราบกันดีตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลคสช. ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลที่นายกฯ คนเดียวกัน สังคมยังไม่เห็นนโยบาย หรือวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ต่อเรื่องน้ำท่วม

การป้องกันและแก้ปัญหายังกระทำกันแบบ ปีต่อปี ใช้กลไกราชการปกติจัดการปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่เห็นแล้วว่าไม่ทันการณ์ ที่ยิ่งกว่านั้นมีหลายสิบหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ แต่กลับปฏิบัติไปคนละทิศทาง

จึงเป็น 8 ปีที่ประเทศสูญเสียโอกาสไปเปล่าๆ กับเรื่องบริหารจัดการน้ำ








Advertisement

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามต่อไปเกี่ยวกับการชดเชยเยียวยาประชาชนที่ประสบภัย รวมไปถึงภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่ทางการเกษตรและผลผลิตเสียหาย

แม้ส่วนหนึ่งจะมีกฎระเบียบและหลักเกณฑ์การเยียวยาของราชการกำหนดไว้อยู่แล้ว แต่จะรวดเร็วฉับไว และครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน ก็ยังเป็นคำถามอยู่

ที่น่าเสียดายคือ การที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกกฎระเบียบควบคุมพรรคและนักการเมืองหาเสียงในช่วง 180 วัน ส่งผลให้ประชาชนสูญเสียโอกาสจากการช่วยเหลือ

ทั้งต้องติดตามหลังสถานการณ์ภาคกลาง และภาคอีสานคลี่คลายเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ลำดับต่อไปฝนจะตกหนักและน้ำท่วมที่ภาคใต้ รัฐบาลได้เตรียมการรับมือไว้แล้วหรือยัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน