FootNote:ลิขสิทธิ์ 1,600 ล้าน ฟุตบอลโลก ในมือแกร่ง ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพียงกรณี “ฟุตบอลโลก” เรื่องเดียว ภาพและความเป็นจริงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ปล่อยล่อนจ้อน ณ เบื้องหน้าประชาคมโลก

ยิ่งบังเกิดขึ้นในบรรยากาศแห่งการประชุมเอเปค ยิ่งเร้าความสนใจเป็นอย่างสูง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปธรรมแห่งการบริหารจัดการ

ไม่ว่าจะมองจากด้านของการกีฬาแห่งประเทศไทย อันเป็นองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะมองจากด้านขององค์กรโอลิมปิคไทย ไม่ว่าจะมองผ่านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ของไทย

ณ เบื้องหน้ามูลค่า 1,600 ล้านบาทที่ “ฟีฟ่า” ตั้งราคา หากมีการประมูลการถ่ายทอด “ฟุตบอลโลก” โฉมหน้าอันเป็นหน้ากาก แห่งรัฐบาลไทย ความเป็นระบอบประยุทธ์ ก็แตกดังโพละ

เป็นการแตกผ่านความล่าช้าในการเจรจา เป็นการแตกผ่านกระบวนการหางบประมาณจำนวน 1,600 ล้านบาท เป็นการแตกท่ามกลางความแน่ใจว่าจะบรรลุตามความต้องการ

คำถามจึงพุ่งตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

นั่นก็คือ จะบริหารจัดการกับ “ฟุตบอลโลก” ให้บรรลุอย่างไร

จุดเริ่มต้นมาจากจำนวนค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอด 1,600 ล้าน มีรากฐานมาอย่างไร ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อย่างกัมพูชา ซื้อมาได้ถูกกว่า

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อมองผ่านการกีฬาแห่งประเทศไทย ก็ปรากฏว่าไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่าย

จำเป็นต้องดึงเงินจากองค์กรอิสระอย่าง “กสทช.” มา

ขณะเดียวกัน กสทช.ก็สามารถอนุมัติให้ได้เพียง 600 ล้านบาท จำเป็นต้องหาอีก 1,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายก็หวังจะได้รับความเมตตาจากภาคเอกชน

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนเองก็สามารถลงขันหนุนช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นปัญหา เพราะยังห่างจากเป้าหมาย 1,600 ล้านบาท

คำถามก็คือ รัฐบาลจะบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างไร

เมื่อเป็นเรื่อง “ฟุตบอลโลก” เมื่อมีความสัมพันธ์กับ “ฟีฟ่า” อันเป็นองค์กรกีฬาระดับโลก เมื่อคำขาดจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก็คือ ยืนเป้าหมายอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท

คำถามก็คือ ประเทศไม่อาจหาเงิน 1,600 ล้านบาทมาได้

นี่ย่อมเป็นคำถามที่พุ่งตรงไปยังรัฐบาลไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานโอลิมปิคไทย

เป็นภาวะอับจนหนทางในบรรยากาศการประชุม “เอเปค”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน