การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรของรัฐบาล มักปรากฏความคึกคักในด้านนโยบายเศรษฐกิจ การทุ่มเงินงบประมาณส่วนกลางไปยังในพื้นที่นั้นๆ อย่างชัดเจน

แต่ความคึกคักนี้ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นกันว่า จะมีความเท่าเทียมกันในกรณีครม.ไม่ได้จัดสัญจรไปเยือนหรือไม่

ข้อดีของการจัดประชุมครม.สัญจรคือการลงไปสัมผัสพื้นที่อย่างแท้จริง พูดคุยกับชาวบ้าน รับฟังความคิดเห็นอันหลากหลายในประเด็นต่างๆ นอกเหนือจากที่ข้าราชการทำรายงานนำเสนอ

เพราะเป็นการสื่อสารสองทางโดยตรงระหว่างรัฐบาลกับคนในท้องถิ่นอย่างตรงไปตรงมา

การสัญจรครม.ครั้งล่าสุดที่จังหวัดตราดและจังหวัดจันทบุรี วันที่ 5-6 ก.พ. มีข้อสังเกตว่าเป็นครั้งแรกหลังจากผู้นำรัฐบาลและผู้นำคสช.ประกาศชัดว่าเป็นนักการเมือง

เพียงยังคงเป็นนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจในการตัดสินนโยบายและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ

ขณะที่ทั้งสองจังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกทั้งด้านเกษตรกร อุตสาหกรรมและการบริการการท่องเที่ยว อีกทั้งยังรวมอยู่ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี

เมื่อต้องพัฒนาหรือยกระดับมูลค่า จึงต้องรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและชุมชนจาก ภาคการผลิตและการบริการมากขึ้น








Advertisement

การรับมือและแก้ไขปัญหานั้นต้องอาศัยการเจรจาและทำงานร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ว่าภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ

การเจรจาต่อรองระหว่างฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่ท้องถิ่นไม่ว่าพื้นที่ใดล้วนต้องอาศัยกลไกทางประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างเปิดเผย

แต่การจัดครม.สัญจรในรัฐบาลที่ยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยังคงไม่สามารถตอบสนองเรื่องนี้ได้

เพียงเฉพาะเรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อ มวลชนท้องถิ่น ก็ต้องมีการนัดแนะก่อนที่ครม.จะไปถึง ว่าจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันให้ถูกต้องครบถ้วนไม่บิดเบือน ประชาชนรับรู้ และแสดงถึงผลสำเร็จของการประชุมครม.สัญจรนอกสถานที่

ถ้าเริ่มต้นจากตรงนี้แล้ว จะคาดหวังให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยโดยธรรมชาติคงเป็นเรื่องยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน