เกาะติดสถานการณ์การเมืองในสภาจะเดินหน้าต่อไปจนสุดทางมีนาคม 2566 หรือไม่ อย่างไรหลังจากเกิดปรากฏการณ์ ส.ส.ยื่นหนังสือลาออกมากถึง 31 คนโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อแสดงความชัดเจนในการย้ายจากพรรคเดิมไปพรรคสังกัดใหม่ เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

ผลจากการแห่ลาออก ทำให้เหลือส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ได้ในสภา ณ วันที่ 15 ธ.ค.2565 จำนวนทั้งสิ้น 442 คน แบ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 16 พรรค รวม 250 คน พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค รวม 192 คน สำหรับองค์ประชุมสภากึ่งหนึ่ง 221 คน

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติมาตรา 105 (1) ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติเอาไว้ว่า หากส.ส.แบบแบ่งเขตว่างลง และอายุของสภาผู้แทนราษฎรเหลือไม่ถึง 180 วัน ไม่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อหาคนมาแทน

การที่สมาชิกจำนวนเท่าที่มีอยู่ของสภา 442 คน ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ รวมทั้งผ่านร่างกฎหมายได้ตามปกติ ไม่มีผลกระทบใดๆ ดังนั้น จึงยังไม่ใช่แรงกดดันให้เกิดการยุบสภาในเร็ววัน แต่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องระมัดระวัง เพราะไม่รู้จะมีส.ส.ลาออกอีกหรือไม่

แม้การลาออกเพื่อย้ายพรรค จะทำให้ผู้ที่ลาออกมีความสะดวกในการทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคสังกัดใหม่แบบเปิดเผย มีเวลามากพอในการลงหาเสียง สร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านพื้นที่ฐานเสียงของตน

แต่หากมีส.ส.ซีกรัฐบาลลาออกในจำนวนมากกว่าซีกฝ่ายค้าน จะก่อให้เกิดสถานการณ์รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เมื่อนั้นอาจมีปัญหาในการลงมติผ่านกฎหมายสำคัญในสภาได้ เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ผู้นำรัฐบาลเอง ก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวถึงแม้จะเป็นสิทธิ์ของนักการเมืองแต่ละคนตัดสินใจ แต่คำถามของสังคมคือ การลาออกจากส.ส. การย้ายพรรคของคนเหล่านี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะตน เฉพาะพรรค โดยประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น หรือไม่

ใกล้เวลาเลือกตั้ง พรรคการเมืองแทนที่จะหาเสียงด้วยนโยบาย ผลงาน ความมุ่งมั่นในการเข้ามาทำงานให้ประชาชน แต่ที่เห็นอยู่ตอนนี้ บางพรรคใช้ทางลัด ตกปลาในบ่อเพื่อน ใช้การต่อรองผลประโยชน์เป็นแรงจูงใจ กวาดต้อนนักการเมือง อดีตส.ส.เข้ามาอยู่ในสังกัดของตน เพื่อหวังยกสถานะจากพรรคขนาดกลาง ขึ้นเป็นพรรคขนาดใหญ่ เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล








Advertisement

เป็นสิ่งพิสูจน์ให้เห็นชัดอีกครั้ง ห้วงเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปการเมืองไม่เพียงไม่คืบหน้า แต่ยังถอยหลังย้อนยุคไปไกลกว่าเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน